ทำไมช่วงเวลาแห่งการเล่น (Playtime) ถึงสำคัญสำหรับเด็ก ๆ

การเล่น ได้แก่ ประสบการณ์และกิจกรรมทุกชนิดที่เกิดขึ้นและเด็ก ๆ สมัครใจที่จะทำ โดยที่นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของเด็ก ๆ ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลายสิ่งหลายอย่างในช่วงเวลาที่พวกเขาได้เล่น ไม่ว่าจะเป็นกับของเล่น เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ หรือเล่นกับเพื่อน ๆ

นอกจากนี้การเล่นของเด็ก ๆ ที่ต่างวัยกันก็แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น การเล่นของเด็กในวัยแรกเกิดหรือเด็กทารก เด็กในวัยนี้ที่ยังคลานหรือเดินไม่ได้ การเล่นกับเด็กโดยการส่งเสียงแปลก ๆ ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย หรือแค่การแขวนโมไบล์ของเล่นไว้บริเวณเตียงนอนของพวกเขาก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนการเล่นให้เหมาะสม เช่น การเล่นบทบาทสมมติกับเด็ก ๆ เพื่อสร้างทักษะและพัฒนาการในการเข้าสังคมให้กับลูก หรือการเล่นเกมทายคำศัพท์ที่ช่วยให้เด็กได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน เป็นต้น นอกจากนั้นในบทความนี้เราจะพาคุณมาดูว่าแท้จริงแล้วการเล่นนั้นมีประโยชน์ต่อเด็กในด้านใดอีกบ้าง และคุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงอายุของพวกเขา

การเล่น สามารถช่วยเด็ก ๆ ในแง่ใดได้บ้าง

  • ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจทั้งในวัยเด็ก และในวันข้างหน้าต่อไป
  • ช่วยให้เด็กรู้สึกได้รับความรัก ความอบอุ่นจากผู้คนที่อยู่รอบข้าง ทั้งยังรู้สึกมีความสุขและยังรู้สึกปลอดภัยในช่วงเวลาที่ได้เล่น
  • ช่วยให้เด็กเข้าใจกลไกทางสังคมและความเป็นอยู่ของโลกมากขึ้น
  • ช่วยพัฒนาเด็ก ๆ ในเรื่องของทักษะทางสังคม ภาษา และการสื่อสาร
  • ช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการใส่ใจผู้คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม
  • และช่วยให้เด็ก ๆ มีทักษะทางร่างกายที่แข็งแรง

ไอเดียการเล่นของเด็กในช่วงวัยแรกเกิดและช่วงวัยทารกที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ

สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้เพียงแค่การมองหน้าที่กำลังยิ้มอยู่หรือได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นการเล่นกับลูกได้แล้ว หรือลองทำตามไอเดียด้านล่างนี้ เพื่อคุยกับลูกของคุณให้มากขึ้นกัน

  • การใช้เสียงเพลง เสียงดนตรี หรือเสียงกระดิ่ง สามารถช่วยพัฒนาลูกของคุณในด้านการได้ยินรวมถึงการเคลื่อนไหว โดยในระหว่างที่ร้องเพลงกับเด็ก ๆ อาจใช้มือเคาะจังหวะบริเวณท้องของเด็ก ๆ ร่วมด้วย
  • การเล่น “จ๊ะเอ๋” เป็นการเล่นที่ดีต่อพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ของเด็ก
  • การจี้เบา ๆ หรือการใช้วัตถุต่าง ๆ ที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนนก โคลน โลหะ หรือโฟม มาสัมผัสกับผิวกายของลูกน้อยแบบอ่อนโยนจะช่วยพัฒนาพวกเขาในเรื่องสัญชาตญาณด้านการสัมผัส
  • การหลอกล่อด้วยวัตถุที่มีสีสันและรูปร่างที่น่าสนใจ สามารถช่วยพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้ในด้านการเคลื่อนไหวและช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก อย่าง กล้ามเนื้อมือ ได้
  • นอกจากนี้การใช้เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่มั่นคง แข็งแรง ยังช่วยให้เด็ก ๆ สามารถคลาน ยืน และเดินได้เร็วขึ้นด้วย

Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com

การเล่นของเด็ก ๆ ในช่วงวัยอื่น ๆ

พฤติกรรมการเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ของเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงวัย เช่น

  • เด็ก 1-2 ขวบ: วัยนี้เป็นวัยที่เด็กยังชอบการเล่นคนเดียวอยู่ ดังนั้นการเล่นที่เหมาะสมคือการหาของเล่นที่ดีต่อพัฒนาการของเด็กมาติดบ้านไว้
  • เด็ก 2+ ขวบ: เด็กวัยนี้จะมีการเล่นแบบที่เรียกว่า “การเล่นแบบคู่ขนาน” คือชอบดูเพื่อน ๆ เล่นแต่จะไม่เล่นด้วยกัน เป็นการเล่นโดยนั่งข้าง ๆ กันแทน
  • เด็ก 3-4 ขวบ: เด็กในวัยนี้จะเริ่มมีการเล่นร่วมกัน แต่ยังไม่มากนัก ยกตัวอย่าง เช่น เด็กทุกคนอาจเล่นเครื่องเล่นในสนามชิ้นเดียวกัน แต่ต่างคนต่างเล่นในแบบของตัวเอง
  • เด็ก 4+ ขวบ: ส่วนเด็กในวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้การเล่นร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น ดังนั้นในวัยนี้ผู้ปกครองควรที่จะเน้นย้ำเรื่องการแบ่งปัน การรู้แพ้ รู้ชนะและการให้อภัยกับเด็ก ๆ ให้มากขึ้น เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข