ประจำเดือนหลังคลอด มาเมื่อไหร่ แล้วต้องดูแลตนเองอย่างให้กลับสู่สภาวะปกติ

เมื่อเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ คุณแม่จะพบความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายต่าง ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เต้านมขยายใหญ่ขึ้น รวมถึงประจำเดือนที่ขาดหายไป จนเมื่อคลอดลูกน้อยแล้ว ร่างกายจึงจะเริ่มปรับตัวสู่สภาวะปกติ และคุณแม่จะกลับมามีประจำเดือนอีกครั้ง ซึ่งภาวะประจำเดือนหลังคลอดนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลของคุณแม่หลาย ๆ ท่าน ดังนั้น Punnita จะพาคุณแม่ทุกท่านไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ ‘ประจำเดือนหลังคลอด’ กันค่ะ

Caucasian woman having painful period cramps

ประจำเดือนหลังคลอด คืออะไร?

ประจำเดือนหลังคลอด คือ ภาวะการมีประจำเดือนครั้งแรกของคุณแม่หลังการคลอดบุตร อย่างที่ทราบกันดีว่าประจำเดือนนั้นเกิดจากภาวะการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกและหลั่งออกมาเป็นประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทุก 21-35 วัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง แต่เมื่อคุณแม่เข้าสู่ภาวะการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประจำเดือนขาดหายไป โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังการคลอดบุตร จนเมื่อร่างกายเข้าสู่สภาพปกติแล้ว คุณแม่ก็จะเริ่มมีประจำเดือนหลังคลอดนั่นเอง

 

ประจำเดือนหลังคลอดมาเมื่อไหร่?

คุณแม่แต่ละท่านจะเริ่มมีประจำเดือนหลังคลอดแตกต่างกันไปตามภาวะสุขภาพและปัจจัยต่าง ๆ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  • คุณแม่ที่ให้นมลูกร่วมกับนมชงและคุณแม่ที่ไม่ให้นมลูก

โดยปกติแล้ว คุณแม่ที่ให้นมลูกร่วมกับนมชงและคุณแม่ที่ไม่ให้นมลูกจะเริ่มกลับมามีประจำเดือนอีกครั้งประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังการคลอดบุตร แต่หากประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มาภายใน 90 วัน ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่การมีภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ การตั้งครรภ์ และปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ

  • คุณแม่ให้นมบุตรเพียงอย่างเดียว

การให้นมบุตรเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลกับการมาของประจำเดือนหลังคลอด ในคุณแม่บางรายอาจพบว่าตนเองไม่มีประจำเดือนเลยตลอดช่วงเวลาที่ให้นมบุตร ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าฮอร์โมนโพรแลคติน (Prolactin) ที่มีหน้าที่ผลิตน้ำนมจะเข้าไปยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ ทำให้ร่างกายของคุณแม่ให้นมบุตรไม่มีการตกไข่ แต่ในคุณแม่ที่มีสุขภาพดีอาจพบว่าการตกไข่กลับมาเร็วขึ้น และส่งผลให้ประจำเดือนหลังคลอดมาเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน
Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com

ประจำเดือนไม่มาหลังคลอด ทำไงดี?

คุณแม่หลายท่านที่ประจำเดือนไม่มาหลังคลอดมักรู้สึกกังวลใจว่าร่างกายอาจมีความผิดปกติหรือกลัวว่าตนเองจะกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ในความเป็นจริงแล้ว อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าร่างกายของคุณแม่แต่ละท่านมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้การมาของประจำเดือนหลังคลอดแตกต่างกันออกไปด้วย ในบางกรณี คุณแม่อาจไม่มีประจำเดือนไปจน 5-6 เดือนหลังคลอดเลยก็ได้ แพทย์จึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าประจำเดือนหลังคลอดมาตอนไหน ดังนั้น การไม่มีประจำเดือนหลังคลอดจึงถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่จึงไม่ต้องเครียด กังวลใจ หรือหาวิธีดูแลตนเองหากประจำเดือนยังไม่มา เพราะเมื่อร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ประจำเดือนก็จะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

ประจำเดือนหลังคลอดแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ?

เมื่อรอบเดือนของคุณแม่หลังคลอดกลับมาอีกครั้ง คุณแม่บางท่านอาจสังเกตว่าประจำเดือนจะยังมาแบบไม่ปกติ ประจำเดือนอาจมามากขึ้นหรือน้อยลงกว่าก่อนตั้งครรภ์ มีอาการปวดบีบบริเวณท้องน้อย รวมถึงการมีตกขาวหรือประจำเดือนมาแบบกระปริบกระปรอย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสภาพร่างกายและระดับฮอร์โมนที่ยังไม่คงที่ แต่หากพบว่ามีประเดือนไหลออกมามากและนานกว่าปกติ ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยชั่วโมงละหลาย ๆ ชิ้น หรือมีไข้ มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที

 

ยังไม่มีประจำเดือนหลังคลอด ท้องได้ไหม?

หลายท่านอาจเข้าใจผิดไปว่าการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มาจะมีความปลอดภัยและไม่ท้อง แท้จริงแล้ว แม้คุณแม่จะยังอยู่ในช่วงหลังคลอดที่ประจำเดือนยังไม่มา คุณแม่ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อเนื่องได้ เพราะร่างกายของคุณแม่อาจมีการตกไข่ได้ในช่วง 4-6 สัปดาห์ และในบางรายก็สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ คุณหมอมักจะแนะนำให้คุณแม่เริ่มคุมกำเนิดได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมา โดยคุณแม่ที่ให้นมบุตรควรเลือกวิธีคุมกำเนิดที่ไม่ส่งผลต่อการหลั่งของน้ำนมอย่างยาฉีดคุมกำเนิดหรือยาฝังคุมกำเนิด ส่วนการใช้ยาคุมกำเนิดประเภทรับประทานนั้นอาจส่งผลให้น้ำนมแม่น้อยลงได้

 

เมื่อประจำเดือนหลังคลอดกลับมาอีกครั้ง คุณแม่ก็อย่าลืมใส่ใจเรื่องสุขอนามัยให้ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนหากมีอาการปวดประจำเดือนก็สามารถประคบร้อนหรือทานยาลดปวด เช่น พาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม และแม้จะมีประจำเดือนแล้ว คุณแม่ก็ยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ สุดท้ายนี้ Punnita ขออวยพรให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงในเร็ววันค่ะ

ดูสินค้าแม่และเด็กเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.punnita.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.