พัฒนาการตามวัยของเด็กทารก

พัฒนาการตามวัยเด็กทารก

ความสำคัญของพัฒนาการตามวัยของเด็กทารกในแต่ละช่วงวัย
พัฒนาการตามวัยของเด็กทารกเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าลูกของเรามีพัฒนาการสมวัยหรือไม่ ทารกเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการทุกเดือน โดยพัฒนาการของทารกจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาของแต่ละคน คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าติดตามพัฒนาการของลูกน้อยในทุกๆวัน เพราะหากลูกมีพัฒนาการที่ล้าช้า อาจเป็นสัญญาณเตือนความบกพร่องทางสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ อาการเจ็บป่วยหรือโรคต่างๆได้

เริ่มติดตามลูกน้อยกันตั้งแต่แรกเกิด

วัยแรกเกิดนี้คุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยได้ไม่ต่างจากทารกในวัยอื่นๆ  อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปรับตัวระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยด้วย

ในช่วงเวลานี้ลูกน้อยต้องการ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ สำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของลูก การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก

เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด เช่น ขยับแขนขา กระพริบตา ส่ายศีรษะไปมาได้เล็กน้อย

มองเห็นได้ไม่ชัดนัก โดยสามารถมองเห็นได้ในระยะ 8-10 นิ้ว หรือช่วงห่างระหว่างสายตาลูกกับใบหน้าแม่ขณะอุ้มให้นม

ลูกน้อยสามารถรับรู้การสัมผัส ทั้งการโอบกอดและการอุ้ม  คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกายของลูกน้อยได้ ด้วยการโอบอุ้มหรือนวดสัมผัสตามส่วนต่างๆ ของร่างกายลูกบ่อยๆ  จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายและการเรียนรู้ดีขึ้น

 

พัฒนาการในช่วง 1-3 เดือน

ในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองของทารกเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับโลกภายนอก ทารกจะเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในด้านต่างๆ

เด็กจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย เริ่มชันคอขึ้นเมื่อจับนอนคว่ำ
เด็กจะเริ่มยิ้มตอบ ยิ้มทักทาย จ้องหน้า สบตาและสังเกต มีปฏิกิริยาต่อเสียงที่ได้ยิน โดยอาจนิ่งฟังหรือยิ้มตอบ
สัมผัสและจับสิ่งของได้ โดยอาจหยิบฉวยมาถือไว้แน่น
มองตามสิ่งของที่เคลื่อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
เลียนแบบสีหน้าของพ่อแม่ รวมทั้งโผเข้าหาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเมื่อต้องการความปลอดภัย ความรัก และการปลอบโยน
คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มหรือกอดอย่างเบามือ พูดคุยหรือตอบโต้เวลาลูกน้อยส่งเสียงช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทารกและแม่

 

พัฒนาการในช่วง 4-6 เดือน

ทารกในช่วงวัยนี้จะเริ่มรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กจะเรียนรู้และต้องการจัดการทุกสิ่งด้วยตัวเอง
ขยับแขนขาแรงขึ้น ยกศีรษะขึ้นเองได้ ใช้แขนยันตัวเองขึ้นมาได้เมื่อต้องนอนคว่ำหน้า
เริ่มให้ความสนใจกับของเล่น ชอบหยิบของเล่นเข้าปาก หัวเราะเสียงดังเมื่อมีคนเล่นด้วย
แยกความแตกต่างของใบหน้าคนแปลกหน้าและคนที่รู้จักได้
เมื่ออายุครบ 6 เดือน เริ่มนั่งได้เองโดยไม่ล้ม โดยจะใช้มือช่วยพยุงตัวเองชั่วครู่ในช่วงแรก และต่อมาจะนั่งได้เองนานถึง 30 วินาที และมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทารกช่วงนี้อยู่ในวัยเรียนรู้และสนุกสนานกับการเล่นไปพร้อมกัน เสริมสร้างพัฒนาการด้วยการพูดคุยกับลูก กระตุ้นให้มีการโต้ตอบและฝึกให้ลุกขึ้นยืน เลือกของเล่นสีสันสดใส อ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ฟัง

 

พัฒนาการในช่วง 7-9 เดือน

ทารกในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่มากขึ้น เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวและกลิ้งตัวได้มากขึ้น
โดยเริ่มจากหัดคลาน และไถก้นไปกับพื้น ทั้งนี้ เด็กอาจหัดคลานโดยใช้แขนและขาช่วยนอกเหนือไปจากการคลานด้วยมือหรือเข่า เด็กบางคนอาจไม่คลานแต่จะหัดไถก้นจนถึงเริ่มหัดเดิน
ปีนป่ายและคลานได้ มักปีนป่ายเก้าอี้หรือโต๊ะ
เรียนรู้การใช้นิ้วมือ รู้จักหยิบของด้วยนิ้วสองนิ้ว รวมทั้งเริ่มปรบมือเป็น
มีปฏิกิริยาต่อถ้อยคำที่คุ้นเคย เมื่อเด็กได้ยินคำไหนบ่อยๆซ้ำๆจะเกิดการจำและมีปฏิกิริยาต่อถ้อยคำนั้นๆ อย่างเช่นการเรียกชื่อ
แยกอารมณ์ความรู้สึกได้จากการฟังน้ำเสียง
อาจพูดคำ 1-2 พยางค์ซ้ำๆ กันได้ พูดคำที่มีความหมาย ได้บ้างแล้ว
กังวลเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า กลัวคนแปลกหน้า โดนอุ้มจะร้องทันที
ชอบเมื่อมีคนชมหรือปรบมือให้ เพราะเขารับรู้ความหมายของการกระทำนี้แล้วว่า ทุกคนกำลังพอใจในสิ่งที่เขาทำ
ทารกในช่วงวัยนี้ยังคงเรียนรู้และเล่นกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไปพร้อมกัน ควรพูดคุย เล่าเรื่องต่างๆ หาเวลาเล่นกับลูก อ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ฟัง

 

Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com

พัฒนาการในช่วง 10-12 เดือน

ช่วงนี้ของพัฒนาการ นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทารก เนื่องจากทารกอายุ 10-12 เดือน กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กเล็กหัดเดินได้

สามารถกะระยะความสูง-ต่ำ เกาะราวและลุกขึ้นยืนได้เอง ปีนป่ายตามเก้าอี้หรือโต๊ะ ซึ่งช่วยกระตุ้นการเดินของเด็ก และอาจเดินก้าวแรกได้ด้วย โดยเด็กจะก้าวได้เองเมื่ออายุครบ 12 เดือน
เริ่มเดินเตาะแตะเพื่อสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ไปทั่วบ้าน
เริ่มหยิบอาหารกินเอง ใช้มือได้ดีขึ้น เพราะกระดูกมือและนิ้วแข็งแรงพอที่จะยก ถือของที่มีน้ำหนักได้มากขึ้น
หากต้องการทราบว่าลูกถนัดมือไหน ให้ยื่นของให้เขารับ ซึ่งเด็กจะยื่นมือข้างที่ถนัดมารับ
ส่งเสียงอ้อแอ้และพูดคำง่าย ๆ ได้ มักพูดคำที่พูดได้บ่อยอยู่ 2-3 คำ เข้าใจประโยคบางประโยคที่คนใกล้ชิดสื่อสารออกมา รวมทั้งทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
เลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ ชอบเลียนแบบท่าทางที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก
แสดงออกทางอารมณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ อาละวาด ไม่พอใจ สามารถรับรู้อารมณ์ของคนอื่นได้มากขึ้นว่าพอใจหรือไม่พอใจเช่นกัน

ทารกช่วงวัยนี้เริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรดูแลความปลอดภัยและกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกควบคู่กันไป ควรระวังไม่ให้เด็กเข้าใกล้สิ่งของอันตราย อาจเป็นสายไฟ ปลั๊กไฟต่าง หาเวลาว่างพูดคุย อ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆ เปิดเพลงเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย หากิจกรรมต่างๆให้เล่นมากกว่า1รอบ สอนให้เด็กรู้จักคำง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งของรอบตัว

 

พัฒนาการในช่วง 13-15 เดือน

ในช่วงวัยนี้จะเปลี่ยนจากคลานมาเป็นเดินและจะเริ่มเดินได้เอง เริ่มลากสิ่งของหรือของเล่น ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสำรวจและทดสอบสิ่งต่างๆ รอบตัว ชอบทดสอบสิ่งที่พบเห็นว่าเป็นยังไง
การทำงานประสานกันระหว่างมือและตาเป็นไปด้วยดี สังเกตได้จากการที่ลูกสามารถต่อบล็อกไม้ซ้อนกันได้ถึงสองชั้น หยิบของเล่นชิ้นเล็กๆ ใส่เข้าหยิบออกจากกล่องได้

สามารถปีนขึ้นเก้าอี้ได้  แต่อาจจะใช้เวลาในการลองผิดลองถูกกว่าจะนั่งบนเก้าอี้ได้ ชอบมุดเข้าไปเล่นใต้โต๊ะ ใต้เก้าอี้  ซึ่งก็ต้องคอยระวังไม่ให้หัวลูกโขกกับขอบเก้าอี้

ยังคงเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในบ้านอยู่ เช่น ทำท่าพูดโทรศัพท์ หยิบไม้กวาดมาทำท่ากวาดบ้าน

เดือนที่ 13 เข้าใจและรับรู้คำและความหมายของคำมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่สามารถพูดหรือแสดงออกมาได้ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ลูกจะสื่อสารหรือแสดงออกผ่านสีหน้า ท่าทาง สุ้มเสียง มากกว่า เช่น พยักหน้า หัวเราะ ยิ้ม มากกว่าคำพูด

พอเริ่มเดือน14 ช่วงนี้ลูกจะพัฒนาด้านภาษาได้เร็วมาก สามารถพูดตามคำที่สอนได้ แต่อาจยังไม่เข้าใจความหมายนัก หากพูดกับลูกบ่อยๆ อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ เขาก็จะเข้าใจได้เร็วและเริ่มที่จะออกเสียงตามได้

วิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างหลากหลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงเอะอะ เรียกร้องความสนใจ หรือโยนสิ่งของซ้ำๆ เพื่อให้มีคนมาเก็บให้ หรือใช้นิ้วชี้ไปยังสิ่งของที่ต้องการ

ในช่วงวัยนี้เป็นนักต่อต้านเช่นกัน วิธีจัดการกับอาการดื้อรั้นของลูกวัยนี้คือ มีตารางเวลาที่ชัดเจนว่าแต่ละวันลูกต้องทำอะไร เวลาไหน
เรียนรู้วิธีที่จะดึงความสนใจจากผู้ใหญ่ได้ดี เขารู้ว่าเมื่อร้องไห้แล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ รู้ว่าทุกคนจะสนใจเมื่อเขาหัวเราะมากกว่ากรีดร้อง และรู้ว่าแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน

ลูกน้อยในช่วงจะจะเริ่มเรียนรู้ได้เร็วจากการพัฒนาต่างๆของช่วงวัย การพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเดิน การเคลื่อนไหวและเรียนรู้จะพัฒนาดีขึ้นตามช่วงวัย

 

พัฒนาการในช่วง 16-18 เดือน

ในช่วงวัยนี้ ลูกแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น พยายามทำอะไรด้วยตัวเอง และปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนอื่นมากขึ้น ร่างกายเคลื่อนไหวได้แคล่วคล่องขึ้น ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 มากขึ้น สมองได้ทำงานมากขึ้น  จะเริ่มเห็นแววกันแล้วว่าบุคลิกของเขาเป็นอย่างไร เป็นเด็กที่ค่อนข้างเงียบหรือซุกซน เด็กแต่ละคน ความสนใจที่แตกต่างกัน รูปแบบการเรียนรู้ก็ไม่เหมือนกัน บุคลิกภาพก็ไม่เหมือนกัน

ลูกเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น จากการเฝ้ามอง สังเกต จดจำ และทำเลียนแบบ  ไม่ว่าจะเลียนแบบการเคลื่อนไหว การแสดงท่าทางต่างๆ รวมไปถึงการเปล่งเสียงพูดเป็นคำ

เด็กเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5  คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยฝึกประสาทสัมผัสให้ลูกได้ เช่น การนำวัตถุแต่ละแบบมากระทบกันเพื่อให้เกิดเสียงที่แตกต่าง ให้ลูกได้มีโอกาสสูดดมกลิ่นอาหารก่อนกิน ให้ลูกได้สัมผัสวัตถุที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น นุ่มนิ่ม หยาบ สาก แข็ง เป็นต้น

ลูกเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วมากขึ้น สังเกตได้จากการที่สามารถลุกขึ้นยืนตัวตรงได้โดยไม่ต้องโก้งโค้งเหมือนก่อน

การหยิบจับทำได้ดี เนื่องจากตากับมือทำงานประสานกันได้ดี สามารถเปิดหนังสือได้ทีละ 2-3 หน้า ใช้มือหมุนลูกปิดประตู และพยายามหมุนก๊อกน้ำด้วยมือข้างที่ถนัด

ลูกเริ่มใช้คำสั้นๆ เพื่อสื่อสารให้ผู้ใหญ่รู้ว่าเขาต้องการอะไร

พัฒนาการด้านภาษาดีขึ้นตามลำดับ ลูกสามารถพูดคำที่มีความหมายได้ประมาณ 6-7 คำ และสามารถเชื่อมคำสองคำเข้าด้วยกันได้

เด็กแต่ละคนจะมีรูปแบบการเรียนรู้ด้านภาษาแตกต่างกันไป บางคนเรียนรู้ที่จะพูดเป็นคำๆ แล้วค่อยพูดเป็นวลี เป็นประโยค ขณะที่บางคน จะพูดอือๆ อาๆ ในลำคอและมีคำที่มีความหมายปนมาบ้างสักคำสองคำ

พอเริ่มเข้า18 เดือนจะเริ่มเข้าใจโครงสร้างของประโยคแล้ว แต่เขาก็ต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับภาษาและใช้มันมากขึ้น

ลูกวัยนี้จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องการตัดสินใจและทำทุกสิ่งอย่างด้วยตัวเอง ลูกอาจแสดงความก้าวร้าวต่อเด็กที่อายุน้อยกว่าได้ แม้คุณพ่อคุณแม่จะพยายามสอนให้รักน้องไม่แกล้งน้อง แต่นี่เป็นเพียงช่วงหนึ่งของพัฒนาการเมื่อเวลาผ่านไปเขาจะค่อยๆ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น
อารมณ์ของลูกในช่วงวัยนี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างความเป็นตัวเองกับการต้องพึ่งพาคนอื่น หลายครั้งที่ลูกจะเกรี้ยวกราดเนื่องจากถูกบังคับให้ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ หรือถูกห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่อยากทำ

วิธีที่จะช่วยสร้างสมดุลทางอารมณ์ให้ลูกได้คือ การปลูกฝังระเบียบวินัยให้ลูกรู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร เมื่อถึงเวลาลูกจะไม่ขัดขืน ให้ลูกมีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจ และไม่ห้ามอย่างพร่ำเพรื่อ แต่ควรห้ามเฉพาะสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายแก่ลูกได้เท่านั้น

 

พัฒนาการในช่วง 19-24 เดือน

ในช่วงวัยนี้ลูกจะเคลื่อนที่ เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา ซุกซน แต่อาจจะยังก้าวย่างไม่มั่นคงนัก ที่สำคัญก็คือ เด็กเล็กๆ จะมีพัฒนาการตามศักยภาพของตนเอง

สนใจร่างกายตัวเองมาก มักมองตัวเองในกระจกนานๆ ชี้บอกชื่ออวัยวะของตนได้

รู้จัก ‘ช่องว่าง’ หากคุณแม่เห็นลูกลองเดินมุดตามโต๊ะ ลอดใต้ขาคุณพ่อ แสดงว่าลูกเข้าใจเรื่องช่องว่างมากขึ้นแล้ว

รู้ความแตกต่างของรูปทรงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม

เริ่มเรียนรู้กลิ่นต่างๆ ได้บ้างแล้ว คุณแม่ลองให้ลูกดมกลิ่นดอกไม้ ผลไม้ แล้วเล่นเกมสูดดมทายกลิ่นต่างๆ กัน

สนใจหนังสือที่มีรูปและเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น คน สัตว์ สิ่งของและสถานที่ต่างๆ มักเปิดหาภาพที่เคยผ่านตามาก่อน สำรวจดูรายละเอียดแต่ละภาพและจินตนาการไปเรื่อยๆ

ลูกวัยนี้ชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเลียนแบบการทำงานบ้าน

เดินถอยหลังและเดินหันข้างได้แล้ว ชอบวิ่งมากกว่าเดิน ยังวิ่งตัวแข็งๆ มีล้มบ้าง

สนุกกับการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ แข้ง ขา ลำตัว ในการวิ่งกระโดด ปีนป่าย   ยิ่งลูกใช้กล้ามเนื้อเหล่านี้ได้มากเท่าไหร่ โลกของเขาก็จะกว้างมากขึ้นเท่านั้น

ด้านการเข้าใจภาษา ผู้ปกครองควรใช้ภาษาในการสื่อสารที่เด็กเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยคำพูดที่ชัดเจน เด็กจะสามารถเลือกวัตถุตามคําสั่งของผู้ปกครองได้ พ่อเเม่ต้องหมั่นพูดคุยโต้ตอบกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำ ด้วยภาษาหรือคำพูดที่ชัดเจน ไม่แนะนำให้เด็กวัย 19-24 เดือน ดูโทรทัศน์ รวมถึงการดูสื่อต่างๆผ่านจอ เช่น คอมพิวเตอร์ แทบเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ

เด็กๆ ก็เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่ชอบคำชม เพื่อเป็นกำลังใจในการที่จะทำเรื่องดีๆ ต่อไป เมื่อคุณแม่ให้ลูกทำสิ่งใด แล้วลูกทำได้ คุณแม่ควรชม ปรบมือให้ หรือพูดขอบใจเขากับสิ่งที่เขาทำได้อย่างที่เราต้องการให้ทำ

ลูกเชื่อฟังคุณแม่มากขึ้น บอกให้ทำอะไรก็ยอมทำ แต่ต้องไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญ  เพราะลูกจะโกรธและคับข้องใจได้ง่าย ถ้าถูกขัดขวาง ถูกห้าม หรือถูกควบคุมมากเกินไป

ลูกจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ รับรู้อารมณ์ของคุณแม่ และพลอยมีอารมณ์ต่างๆ ตามไปด้วย บางครั้งก็จะถามความเห็นคนอื่นก่อนว่าทำอย่างนี้ได้ไหม

การที่เด็กรับผิดชอบตัวเองได้ เป็นพื้นฐานของความฉลาดด้านอารมณ์อย่างหนึ่ง แม้ลูกจะยังเล็กแต่คุณแม่ก็สามารถเริ่มฝึกความรับผิดชอบให้กับพวกเขาได้แล้ว โดยผ่านสิ่งใกล้ตัวเขา

เด็กวัยนี้จะแสดงความรู้สึกภายในออกมาให้ผู้ใหญ่เห็นตรงๆ เช่น แสดงความก้าวร้าว ความโกรธ ความต้องการ ความพอใจ ความไม่พอใจ รวมทั้งแสดงความรู้สึกและอาการต่างๆ ที่จะทำให้คนอื่นๆ เกิดความพึงพอใจ ให้ความรัก ความใจใส่กลับมาด้วย

พัฒนาการในด้านต่างๆของลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ และติดตามพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ  ช่วงวัยต่างๆของลูกการเสริมสร้างพัฒนาการจึงเป็นสิ่งจำเป็น  เพื่อนให้ลูกน้อยได้มีพัฒนาการและเติบโตสมวัย

 

ดูสินค้าเสริมพัฒนาการเด็ก Click เลย www.punnita.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.