ลูกไอ เป็นปัญหาสุขภาพทั่วไปที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องพบเจอ เพราะอาการไอเกิดขึ้นได้กับเด็กในทุกเพศทุกวัย ทั้งยังมีอาการไอหลายรูปแบบด้วย สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากไข้หวัด โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เด็กเล็กจะมีแนวโน้มที่จะเป็นหวัดและมีอาการไอได้ง่ายมาก เพื่อแนะนำแนวทางการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง ดังนั้นบทความนี้ Punnita จึงจะมาอธิบายให้ทุกคนได้รู้จักถึงสาเหตุและลักษณะของการไอแต่ละแบบ คุณพ่อคุณแม่จะได้ทราบถึงวิธีการดูแลลูกน้อยและบรรเทาอาการไอในเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม
สาเหตุของการเกิดอาการไอในเด็ก
ในทางการแพทย์ได้มีการแบ่งสาเหตุของการเกิดอาการไอในเด็กออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.เกิดจาการติดเชื้อ
การติดเชื้อในทางเดินหายใจถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มเด็กไอ ซึ่งมีการจำแนกออกเป็นประเภทย่อย ๆ ตามคุณลักษณะและประเภทของเชื้อโรคด้วย ได้แก่
- ลูกไอจากการติดเชื้อไวรัส อาการไอเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด โพรงจมูกและไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หรืออาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
- ลูกไอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุอาจทำให้ลูกมีอาการป่วยโรคอื่นตามมาได้ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม เป็นต้น
- ลูกไอจากการติดเชื้อวัณโรค ถือเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องพบแพทย์เข้ารับการรักษาอย่างเคร่งครัด
2.ไม่ใช่จากการติดเชื้อ
อาการไอในเด็กที่ไม่ได้มีที่มาจากการติดเชื้อมักเกิดขึ้นจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย อาการภูมิแพ้ หรือเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อโรค ประกอบไปด้วย
- ลูกไอจากอาการภูมิแพ้โพรงจมูก
- ลูกไอจากอาการผิดปกติหรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาการหลอดลมไวมากกว่าปกติ ความผิดปกติของโครงสร้างหลอดลม โรคหืด และมีสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ เป็นต้น
- ลูกไอ เพราะมีภาวะสำลักอาหารเรื้อรัง
- กรดไหลย้อน
- นอนกรน
- โรคหัวใจบางชนิด
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด
- การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ สารเคมี ฝุ่น PM2.5 ควันจากการเผาไหม้ เป็นต้น
- ความผิดปกติบางอย่างทางจิตใจก็ส่งผลต่ออาการไอในเด็กได้
- อื่น ๆ อีกมากมาย
ลักษณะการไอของเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องรู้
การหมั่นสังเกตและทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการไอของลูกน้อยถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพราะลักษณะการไอในเด็กนั้นสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุและอาการของลูกน้อยได้ในระดับหนึ่งด้วย เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ทำการรักษาและเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม
-
ลูกไอเสียงก้อง
ลักษณะการไอของเด็กที่เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนมีอาการบวม ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ เนื่องจากในช่วงแรกเริ่ม โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี จะมีทางเดินหายใจที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อมีอาการบวมเกิดขึ้นจึงทำให้ลูกน้อยหายใจลำบาก
-
ลูกไอแบบมีเสียงหวีด
ลักษณะการไอของเด็กที่เกิดจากทางเดินหายใจส่วนล่างตีบตันหรือปอดมีอาการอักเสบ จนส่งผลให้ลูกไอแบบมีเสียงหวีดขณะหายใจออก ส่วนใหญ่จะพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่ป่วยเป็นโรคหืด และโรคหลอดลมอักเสบอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัส รวมถึงในบางครั้งอาการไอหวีดสามารถเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจได้เหมือนกัน
-
ลูกไอเรื้อรัง
ลูกไอเรื้อรังติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ ส่วนใหญ่ลักษณะการไอแบบนี้จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัด โรคหืด โรคภูมิแพ้ รวมถึงการติดเชื้อในโพรงจมูกและทางเดินหายใจ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการไอเรื้อรังนานกว่า 3 สัปดาห์ ควรพาไปพบแพทย์ทันที
-
ลูกไอกรน
หากพบว่าลูกน้อยไอติดต่อกันถี่ ๆ โดยไม่ได้หายใจเป็นพัก ๆ รวมถึงเมื่อหายใจเข้าไปแล้วจะมีเสียงดัง แสดงว่าลูกน้อยของท่านอาจมีอาการไอกรน ซึ่งอาการไอกรนสามารถเกิดร่วมกับอาการน้ำมูกไหล จาม และมีไข้ต่ำ ๆ ได้เช่นกัน เนื่องจากอาการไอกรนในเด็กเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส ในระบบทางเดินหายใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กทุกเพศทุกวัย แต่ในกลุ่มเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนจะมีอาการรุนแรงกว่าปกติ
-
ลูกไอตอนกลางคืน
อาการไอที่มีความรุนแรงขึ้นในตอนกลางวัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้หวัด เนื่องจากมีเสมหะและน้ำมูกจากจมูกและโพรงจมูกไหลลงไปสู่ช่องคอ เป็นเหตุให้เกิดอาการไอขณะนอนหลับได้ รวมถึงเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดก็สามารถมีอาการไอตอนกลางคืนได้เหมือนกัน เพราะระบบทางเดินหายใจของเด็กจะไวต่อสิ่งกระตุ้นในช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน
-
ลูกไอขณะมีไข้
เมื่อลูกน้อยมีไข้หวัดที่ไม่รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการไอได้ แต่ในกรณีที่หากเด็กมีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส แนะนำให้ควรรีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาการไออาจเกิดขึ้นจากภาวะปวดบวมได้ ซึ่งมักพบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่มีร่างกายอ่อนแอและมีอาการหอบหายใจเร็วผิดปกติ
-
ลูกไอและมีอาการอาเจียน
ลูกน้อยที่มีอาการไอในบางครั้งอาจมีการอาเจียนร่วมด้วยได้ เพราะการไอสามารถไปกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณโคนลิ้นและคอหอย ทำให้เกิดอาการอาเจียนตามมาได้ ซึ่งลูกน้อยที่พบว่ามีอาการไอลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอาการไอเรื้อรัง ไอจากโรคไข้หวัดและโรคหืดรุนแรง ยิ่งหากเด็กมีน้ำมูกและเสมหะไหลลงสู่ช่องท้องมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนสูง
เมื่อลูกน้อยมีอาการไอ ดูแลรักษาอย่างไร?
-
ดื่มน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มคอ
การบรรเทาอาการลูกไอง่าย ๆ คือการให้ลูกน้อยจิบน้ำอุ่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น ลดการระคายเคือง หรือจะให้ลูกดื่มนมแทนก็ได้ เพราะนมจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่น แถมยังสู้กับเชื้อโรคได้ดีอีกด้วย แต่ไม่แนะนำให้ลูกน้อยดื่มเป็นน้ำส้ม เพราะน้ำส้มจะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการระคายเคืองมากขึ้น มีอาการไอหนักกว่าเดิม
-
ให้ลูกน้อยนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่
การนอนพักผ่อนถือเป็นวิธีบรรเทาอาการไอสำหรับเด็กทารกได้ดีมาก ๆ ซึ่งควรให้ลูกน้อยพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีอากาศเย็นหรืออากาศแห้งจนเกินไป ห้องแอร์ควรปรับอุณหภูมิให้พอดี ที่ประมาณ 25 ถึง 27 องศาเซลเซียส หากสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนของลูกมีอากาศแห้ง ควรเปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศจะช่วยบรรเทาอาการของลูกได้ดีขึ้น
-
ดูดน้ำมูกและล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการไอ มีน้ำมูกและเสมหะในปริมาณมาก แนะนำให้ล้างจมูกลูกน้อยด้วยน้ำเกลือและหมั่นดูดน้ำมูกบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ไม่มีน้ำมูกตกค้างในโพรงจมูกจะได้ไม่กระตุ้นอาการไอ ลูกน้อยหายใจได้สะดวกขึ้น รวมถึงการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือยังเป็นการละลายน้ำมูกและเสมหะ ช่วยให้เด็กขับเสมหะออกมาง่ายขึ้นด้วย
-
ให้ลูกน้อยรับประทานยาแก้ไอเด็กหรือยาละลายเสมหะเด็ก
ในกรณีที่ลูกน้อยมีอาการไอหนัก ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกน้อยรับประทานยาแก้ไอและยาละลายเสมหะสำหรับเด็กได้ ซึ่งจะเป็นตัวยาแบบชนิดน้ำหรือชนิดเม็ดก็ได้ แต่ต้องเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีต่อลูกน้อย
-
กรณีที่ลูกน้อยมีอาการไอหนัก ๆ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
ปกติแล้วอาการลูกไอจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองตามลำดับ หากดูแลรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากลองทุกวิธีแล้ว อาการไอของลูกไม่ดีขึ้น หรือมีอาการไอหนักขึ้น ไอเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ไอแล้วตัวแดงตัวม่วง ไอออกมาเป็นเลือด หายใจไม่ได้เพราะเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจแล้วมีเสียงหวีด อกบุ๋มเวลาหายใจ ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เร็วที่สุด เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสมทันที เพราะสาเหตุที่ทำให้ลูกไอนั้นมีหลายปัจจัยมาก