สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อยด้วยการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact)

การให้แม่และลูกได้สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกันหลังคลอด เป็นการกระทำที่มีการพิสูจน์แล้วในทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นการกระทำที่ดีมาก ๆ ทั้งในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณแม่และลูกที่เพิ่งคลอด รวมถึงยังส่งผลต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของทั้งคู่อีกด้วย การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อเป็นเพียงการกระทำเล็ก ๆ แต่ส่งผลมากมายนัก และมีความสำคัญถึงขนาดที่องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยังสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกคนบนโลกต้องเห็นความสำคัญของการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อนี้ มาดูกันว่าการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ หรือ skin-to-skin contact คืออะไรกันแน่และมีความสำคัญขนาดไหน?

skin-to-skin

การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อคืออะไร?

การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) ของคุณแม่และลูกน้อยหลังการคลอดบุตร โดยทั่วไปจะหมายถึงการกระทำที่คุณแม่โอบกอดลูกน้อยแนบอกหลังการคลอดทันทีโดยทำการเปลือยอกและเปลือยกายของลูกน้อย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผิวหนังของทั้งคู่ได้สัมผัสกันและกันและแลกเปลี่ยนความอบอุ่นให้แก่กันและกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับทารกที่ออกมาจากครรภ์ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับภาพที่ทารกแรกคลอดจะร้องไห้จ้าไม่หยุด และเมื่อได้กลับสู่อ้อมอกของผู้เป็นแม่จะช่วยให้หนูน้อยสงบลงได้ โดยการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อแบบนี้มีความสำคัญมากสำหรับการดูแลทารกหลังคลอดและมีอีกชื่อเรียกว่า Kangaroo mother care (KMC)

โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำ Kangaroo mother care (KMC) ไว้ดังนี้ “ทำ KMC ได้โดยจัดให้ทารกอยู่ในท่า upright ระหว่างเต้านมของแม่ ให้หน้าอก ท้องแขนขาของลูกได้สัมผัสกับผิวหนังของแม่ หันศีรษะทารกไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนขางออยู่ในท่ากบ อย่าให้สะโพกกางออกไปมาก ใส่ผ้าอ้อมให้ทารก ใช้ผ้าพันรอบตัวแม่กับทารก และใส่เสื้อธรรมดาคลุมให้แม่และลูก กรณีที่อุณหภูมิห้องต่ำ 22-24 องศาเซลเซียสหรือทารกน้ำหนักน้อยมากให้ใส่หมวก ถุงเท้าเพิ่มการทำ KMC ได้นานเท่าที่ต้องการ และไม่ควรรบกวนแม่และลูก ส่วนในกรณีที่แม่ต้องการการพักผ่อนสามารถให้พ่อหรือญาติทำ KMC แทนได้” ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกใหม่ของครอบครัวและเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจของลูกน้อยหลังคลอด

การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ

การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อมีความสำคัญอย่างไร 

  • ช่วยให้ทั้งคุณแม่และทารกผ่อนคลาย และช่วยให้ทารกสงบลงร้องไห้น้อยลง
  • ช่วยปรับอัตราการเต้นและการหายใจของทารกให้เป็นปกติ ช่วยให้ทารกปรับตัวได้หลังออกจากครรภ์ของแม่
  • ช่วยให้ทารกได้รับความอบอุ่นจากความร้อนของร่างกายมารดา ป้องกันการเกิดอาการตัวเย็น (hypothermia) ในทารกได้
  • ช่วยปรับระบบการย่อยและการเผาผลาญของทารกและทำให้ทารกต้องการดูดนมแม่มากขึ้น
  • ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่
  • ช่วยปรับสมดุลลำไส้ของทารกและป้องกันการติดเชื้อในทารกได้

นอกจากนี้การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อหรือการทำ Kangaroo Care นั้นยังมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการดูแลทารกวิกฤติหลังคลอด เพราะการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อจากมารดามีส่วนช่วยในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • เพิ่มความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด
  • ลดระดับคอร์ติซอล (ความเครียด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากขั้นตอนที่เจ็บปวดอย่างการผ่าตัด หรือโรคที่มีมาแต่กำเนิด
  • ช่วยสนับสนุนพัฒนาการในการเจริญเติบโต
  • อาจช่วยลดระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาล
  • ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่และเป็นน้ำนมที่มีแอนติบอดี้ตรงกับที่ร่างกายทารกกำลังต้องการ

 

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าสัมผัสรักจากคนเป็นแม่ เป็นสิ่งที่ทารกน้อยต้องการมากที่สุดหลังจากที่ลืมตาดูโลก ร้านปุณณิฏาเชื่อว่าคุณแม่ทุกท่านจะโอบกอดลูกน้อยของคุณด้วยความรักใคร่เต็มหัวใจและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีต่อไป

Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.