เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตั้งครรภ์ เหล่าคุณแม่มักจะระวังเนื้อระวังตัวในการรับประทานอาหารหรือการนำสิ่งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายอยู่เสมอ เพราะการกระทำเพียงเล็กน้อยของผู้เป็นแม่นั้นสามารถส่งผลกระทบถึงหนูน้อยในครรภ์ได้ทั้งสิ้น และเชื่อว่าในยุคนี้คุณแม่หลายคนเองมักจะดื่มกาแฟกันเป็นประจำอยู่แล้วก่อนการตั้งครรภ์ หากแต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ไม่มั่นใจว่าตนเองจะยังดื่มกาแฟเหมือนเดิมได้หรือไม่หรือต้องเลิกขาดไปเลย เพราะกาแฟอาจส่งผลร้ายกับลูกน้อยในครรภ์ ในบทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจว่าจริง ๆ แล้วคนท้องกินกาแฟได้ไหม หรือต้องรับประทานอย่างไรถึงจะปลอดภัยกับลูกน้อยในครรภ์
ทำไมกาแฟถึงอาจเป็นอันตรายกับคุณแม่ตั้งครรภ์?
อย่างที่ทราบกันดีว่าในกาแฟมีสารกระตุ้นชนิดหนึ่งอยู่ซึ่งก็คือ “คาเฟอีน” นั่นเอง โดยการรับประทานคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปแม้จะเป็นคนธรรมดาทั่วไปก็ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วหากเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็อาจจะส่งผลเสียได้ทั้งกับร่างกายของตนเองและทารกในครรภ์ นอกจากนี้คาเฟอีนยังไม่ใช่แค่พบได้ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังพบได้ในชา ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มบางประเภท ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณคาเฟอีนลง ก็ต้องระวังในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
หากได้รับ ‘คาเฟอีน’ มากเกินไปจะส่งผลเสียอย่างไรต่อคุณแม่ตั้งครรภ์?
- คาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ: ทำให้คุณแม่ต้องลุกไปปัสสาวะบ่อย ๆ และร่างกายอาจเกิดภาวะขาดน้ำและการสูญเสียแคลเซียมจากการปัสสาวะบ่อยเกินไปได้ ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟได้ก็ควรเลี่ยง แต่หากยังดื่มกาแฟอยู่ก็ต้องดื่มน้ำตามเยอะ ๆ
- คาเฟอีนขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก : หากได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปในขณะตั้งครรภ์ คาเฟอีนอาจไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกายทำให้ร่างกายอาจดูดซึมธาตุเหล็กได้ไม่เพียงพอ ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์อาจพบความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางเนื่องจากการขาดธาตุเหล็กได้
- คาเฟอีนอาจรบกวนการพักผ่อน: การได้รับคาเฟอีนที่เป็นสารกระตุ้นทำให้ตื่นตัว อาจไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย นอกจากนี้คาเฟอีนยังสามารถซึมผ่านรกไปยังลูกน้อยได้ด้วยเช่นกัน และอาจกระตุ้นให้ทารกตื่นตัว ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับหรือการเคลื่อนไหวร่างกายในครรภ์ได้
- คาเฟอีนอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย : มีผลการวิจัยเปรียบเทียบกันระหว่างคุณแม่ที่มีสารคาเฟอีนในเลือดสูงกับคุณแม่ที่มีสารคาเฟอีนในเลือดน้อย พบว่าเด็กทารกแรกเกิดของคุณแม่ที่มีสารคาเฟอีนในเลือดสูงจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย ตัวเล็ก ศีรษะเล็ก ส่วนทารกแรกเกิดของคุณแม่ที่มีสารคาเฟอีนในเลือดน้อยถึงน้อยมาก มีน้ำหนักตามเกณฑ์ ซึ่งผู้ทำการวิจัยจึงได้ทำการวิเคราะห์จากผลการศึกษานี้ว่า สารคาเฟอีนมีส่วนทำให้หลอดเลือดในมดลูกและรกหดตัว ซึ่งอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้น้อยลงจึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกขณะอยู่ในครรภ์
- คาเฟอีนอาจทำให้เด็กมีโอกาสพิการแต่กำเนิด: ถึงแม้จะยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดจากการเก็บข้อมูลในคน แต่จากหลาย ๆ งานวิจัยกับสัตว์พบว่าการได้รับคาเฟอีนในระหว่างตั้งครรภ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพิการแต่กำเนิด การคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้เด็กในครรภ์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ได้
สรุปว่าจริง ๆ แล้ว “คนท้องกินกาแฟได้ไหม?”
เราขอสรุปให้ว่าจริง ๆ แล้วหญิงตั้งครรภ์สามารถรับประทานกาแฟหรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนได้ แต่ปริมาณที่คุณหมอแนะนำสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัย คือ ไม่ควรรับคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัม และนอกจากนี้คุณแม่บางท่านอาจติดกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน การลดปริมาณลงจะช่วยให้คุณแม่ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ลงได้อีกด้วย
หรือหากอยากเลิกรับประทานชา กาแฟ หรือโกโก้ที่มีคาเฟอีนสูงในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ลองหันมาดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ นมที่มีไขมันต่ำ นมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือน้ำผลไม้ที่คั้นเองแบบไม่เติมน้ำตาล จะช่วยลดความกระหายและยังช่วยบำรุงทั้งสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์