ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ใครหลายๆคนมีความสุข ทั้งตัวคุณแม่ที่ตั้งท้องเอง หรือแม้แต่คนในครอบครัวและคนรอบๆตัว แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ก็เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์เป็นอย่างมาก จึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆทางร่างกายได้อย่างง่ายดาย โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรงและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เสี่ยงต่อทั้งชีวิตของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น การไปพบคุณหมอตามนัดเป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เรามาดูกันว่าภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ มีอะไรกันบ้าง
อาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์
-
อาการปวดปัสสาวะบ่อย
สาเหตุที่คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยๆ เกิดจากการที่มดลูกขยายตัวเนื่องจากการตั้งครรภ์ ไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ และยังมีเลือดที่มาไหลเวียนบริเวณอุ้งเชิงกรานมากขึ้นจึงรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย โดยอาการมักจะเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกหรือช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ บางครั้งคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะได้ เนื่องจากการไอ จาม หรือหัวเราะ จะไปเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้ปัสสาวะเล็ดออกไปทางท่อปัสสาวะได้
-
อาการท้องผูก
สาเหตุของอาการท้องผูกในคนท้อง ใกล้เคียงกับการที่คนท้องปวดปัสสาวะบ่อยๆ คือ มดลูกอาจขยายตัวไปกดทับลำไส้ใหญ่ทำให้ขับถ่ายไม่สะดวก หรือการไหลเวียนของเลือดที่มากขึ้น จนทำให้ลำไส้ใหญ่มีการทำงานผิดปกติ โดยหากปล่อยให้ท้องผูกเป็นเวลานานและขับถ่ายผิดวิธี ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารหนักตามมาได้อีก ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรับเปลี่ยนอาหารการกินให้มีกากใยสูงขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาเฟอีนเพราะอาจเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดียิ่งขึ้น
-
อาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย
คุณแม่ตั้งครรภ์ มักมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียง่ายเป็นปกติ เนื่องจากร่างกายทำงานหนักขึ้น โดยหัวใจของคุณแม่จะทำงานหนักขึ้น เพราะต้องให้เม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายที่มากขึ้น ร่างกายก็อาจมีน้ำมากขึ้นทำให้เม็ดเลือดแดงจาง จนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่าย รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากการตั้งครรภ์ ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่รู้สึกเวียนศีรษะหรือหายใจไม่ทัน คุณแม่อาจมีอาการของโลหิตจาง ซึ่งควรไปพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ต้องระวัง!
-
ท้องนอกมดลูก
การท้องนอกมดลูก เป็นหนึ่งในภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่ตัวอ่อนไปฝังอยู่บริเวณอื่นนอกโพรงมดลูก โดยส่วนใหญ่มักพบในบริเวณท่อนำไข่ และยังพบว่ามีการตั้งครรภ์ที่บริเวณอื่น เช่น ปากมดลูก รังไข่ หรือในช่องท้อง อีกด้วย ซึ่งหากตรวจพบการท้องนอกมดลูก แพทย์จะต้องให้มีการยุติการตั้งครรภ์ โดยอาจจะใช้วิธีการผ่าตัด หรือการรักษาโดยการใช้ยา โดยคุณแม่ที่เคยมีประวัติท้องนอกมดลูก อาจมีความเสี่ยงในการเกิดซ้ำมากกว่า
-
ภาวะรกเกาะต่ำ
ตำแหน่งที่รกเกาะ คือ จุดที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากรกไปเกาะใกล้หรือปิดปากมดลูก (ช่องทางที่ลูกจะออกเวลาคลอด) จะถือว่าเป็นภาวะรกเกาะต่ำ ส่วนใหญ่คุณแม่มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้ามดลูกคุณแม่มีการแข็งตัว ไม่ว่าจะก่อนกำหนดหรือช่วงครบกำหนดคลอด จะเกิดการตกเลือดและอันตรายต่อชีวิตได้
-
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การเกิดภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่อันตราย ซึ่งเสี่ยงต่อการแท้งและการคลอดก่อนกำหนดได้ คุณแม่บางคนอาจเป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง แต่บางคนเพิ่งมีประวัติเป็นเบาหวานหลังจากตั้งท้อง เนื่องจากการตั้งครรภ์สามารถกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินได้ โดยการเกิดเบาหวานมักพบบ่อยในคุณแม่ที่ท้องแรก คุณแม่อายุมาก คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง หรือคุณแม่ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวานมาก่อน
-
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษ เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจต้องเจอ อาการคือ คุณแม่จะมีอาการตัวบวม ตรวจเจอโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงอาจทำให้ชักและอาจเสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกได้เลย ส่วนเด็กในครรภ์ของคุณแม่ก็มักมีอาการชักรุนแรงจนเสียชีวิตในครรภ์ แต่หากควบคุมอาการได้ ไม่ปล่อยให้ชักบ่อยๆ หรือนานๆ เด็กก็สามารถเติบโตได้ปกติ
-
ภาวะรกเสื่อม/ ภาวะน้ำคร่ำน้อย
เป็นสองภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดร่วมกัน โดยการเกิดภาวะรกเสื่อม มักเกิดในคุณแม่ที่มีโรคเบาหวานหรือครรภ์เป็นพิษ ทำให้รกที่ทำหน้าที่ส่งอาหารให้กับลูกน้อยจนถึงก่อนคลอด เสื่อมสภาพก่อนเวลา และเมื่อเกิดภาวะรกเสื่อม ก็ทำให้น้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวลูกลดลง ลูกไม่มีพื้นที่ที่จะขยับตัวและทำให้สายสะดือที่อยู่รอบตัวลูกถูกกดทับ ทำให้อาหารและออกซิเจนที่ส่งจากรกผ่านทางสายสะดือไปยังลูกลดลง โดยหากตรวจพบ ควรทำคลอดเด็กโดยทันทีแม้ว่าจะต้องคลอดก่อนกำหนดก็ตาม เพราะหากปล่อยไว้ อาจมีความเสี่ยงที่ทำให้เด็กเสียชีวิตลงได้
จะเห็นได้ว่าภาวะแทรกซ้อนทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรงนั้น ต่างก็สร้างความลำบากให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนบางอาการที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวคุณแม่เอง คุณพ่อ หรือคนอื่นๆรอบตัว ควรช่วยกันดูแลประคับประคองการตั้งครรภ์ครั้งนี้อย่างดีที่สุด รวมถึงไปพบคุณหมอตามนัดเป็นประจำ เพื่อให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นไปอย่างมีความสุขตามที่ใครๆต่อใครต่างก็คาดหวัง