จุกหลอก หรือจุกนมปลอม คือจุกนมเลียนแบบสำหรับให้เด็กทารกอมหรือดูด เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ไม่ร้องไห้งอแง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เด็กทารกมีพฤติกรรมติดการดูดนิ้วบ่อย ๆ อันเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยและติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย โดยจุกหลอกจะมีลักษณะคล้ายเต้านมเลียนแบบของคุณแม่หรือจุกขวดนม มีความนุ่มนิ่ม เนื่องจากทำมาจากยางและซิลิโคน Food Grade ที่ได้คุณภาพมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ปัจจุบัน จุกหลอกนั้นผลิตออกมา 2 รูปแบบ ได้แก่ จุกหลอกหัวกลมที่มีลักษณะกลมมน เหมือนจุกขวดนมทั่วไป ช่วยให้เด็กดูดนมได้ง่าย และจุกหลอกหัวแบนที่มีลักษณะแบนรูปทรงหัวตัด มีส่วนโค้งเว้ารองรับการสบกันของฟันได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงของการสำลักน้ำลาย และไม่ไปอุดกั้นทางเดินหายใจของเด็ก
ข้อดีของการใช้ ‘จุกหลอก’
-
ช่วยปรับอารมณ์ลูกน้อย ไม่งอแง และหลับง่าย
พฤติกรรมของเด็กแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันออกไป แต่ทารกส่วนใหญ่มักมีความต้องการในการดูดสิ่งของบางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งการนำจุกหลอกไปให้เด็กในเวลาที่ของต้องการดูดบางสิ่งบางอย่าง จึงทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ มีความสุข และรู้สึกผ่อนคลายจนหลับได้ง่ายและนานขึ้น
-
ช่วยในการเบี่ยงเบนความสนใจได้ในช่วงสั้น ๆ
การใช้จุกหลอกถือเป็นหนึ่งวิธีในการเบี่ยงเบนความสนใจจากเด็กทารกได้ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องฉีดยา เจาะเลือด หรือเข้ารับกระบวนการรักษาอื่น ๆ เพราะจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย และปลอดภัย
-
ป้องกันไม่ให้ทารกดูดนิ้ว
การดูดจุกหลอกดีกว่าการปล่อยให้ลูกน้อยอมหรือดูดนิ้วแน่นอน เนื่องจากนิ้วอาจมีเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียปะปนได้ง่าย เมื่อเด็กนำเข้าปากก็มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการป่วยติดเชื้อต่าง ๆ ได้ อีกทั้งการติดนิสัยจุกหลอกในเด็กยังเลิกได้ง่ายกว่าพฤติกรรมติดการดูดนิ้วอีกด้วย
-
ลดความเสี่ยงของโรคไหลตาย (SIDS)
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (The American academy of pediatrics) แนะนำให้ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนใช้จุกนมหลอกขณะเข้านอน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าการใช้จุกนมหลอกขณะเข้านอนสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตฉับพลันขณะนอนหลับในทารกได้ 50 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่าการใช้จุกนมหลอกขณะนอนหลับนั้นช่วยเพิ่มการตื่นตัวและตอบสนองของเด็ก และทำให้ตำแหน่งของลิ้นไม่อุดกลั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
ข้อเสียของการใช้ ‘จุกหลอก’
-
ทารกติดจุกหลอกไม่ยอมทานนมแม่
เกิดได้หากให้ลูกน้อยดูดจุกหลอกบ่อยจนเกินไป จนมีพฤติกรรมติดจุกหลอกจนมีอาการร้องไห้งอแงเมื่อไม่ได้ดูดจุกหลอก รวมถึงเด็กบางคนที่ใช้จุกหลอกเป็นระยะเวลานานอาจมีความรู้สึกคุ้นเคยจุกหลอกมากกว่าการดูดนมแม่ ส่งผลให้ทารกไม่ยอมทานนมแม่ได้เช่นกัน
-
เสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
อ.พญ. นาฎวดี อังควัฒนะพงษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ให้ข้อมูลว่า เด็กที่ใช้จุกหลอกมีอัตราการติดเชื้อในหูชั้นกลาง ซึ่งกลไกการติดเชื้อดังกล่าวยังคงไม่แน่ชัด แต่จากข้อสันนิษฐานอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงความดันขณะการดูดจุกหลอก อันมีส่วนช่วยเพิ่มการย้ายที่ของเชื้อและสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและคอไปยังส่วนหูชั้นกลางได้
-
มีปัญหาต่อสุขภาพฟันของทารก
การใช้จุกหลอกเป็นระยะเวลานาน หรือใช้จุกหลอกมานานกว่า 1 ปี อาจทำให้ฟันของลูกน้อยขึ้นในลักษณะที่ผิดปกติ ฟันเก หรือการสบฟันผิดปกติได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรลดหรือหยุดใช้จุกหลอกก่อนลูกน้อยอายุ 3 ปี เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพฟันของลูก
วิธีเลือกซื้อจุกหลอกให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกน้อย
เมื่อต้องพิจารณาเลือกซื้อของกินของใช้สำหรับลูกน้อย สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือความปลอดภัยของลูกน้อย ไม่เว้นแม้กระทั่งการเลือกซื้อจุกหลอก เพื่อให้ปลอดภัยและเหมาะสำหรับเด็กเล็กในทุกช่วงวัย ผู้ปกครองทุกท่านจึงควรพิจารณาปัจจัยสำคัญเหล่านี้ในการประกอบการตัดสินใจซื้อจุกหลอกด้วย
-
ขนาดจุกหลอกที่เหมาะสำหรับลูกน้อย
จุกหลอกมีจำหน่ายตั้งแต่ขนาดไซซ์ S ไซซ์ M ไซซ์ L รวมถึงยังมีการระบุรายละเอียดความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุวัยของเด็กไว้ด้วย ควรเลือกซื้อให้ตรงกับคุณลักษณะของลูกน้อย เนื่องจากจุกหลอกแต่ละขนาดจะมีความปลอดภัยและรองรับสรีระรูปปากของเด็กในแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน หากจุกหลอกมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไปอาจทำให้เด็กสำลักได้
-
คุณภาพวัสดุที่ใช้ในการผลิตจุกหลอก
จุกหลอกเป็นสิ่งที่ลูกน้อยต้องใช้ในการอมหรือดูดเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่าคุณภาพวัสดุที่ใช้ในการผลิตจุกหลอกต้องได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ต้องไม่มีสารเคมีในส่วนผสม รวมถึงวัสดุที่ใช้ต้องเป็นวัสดุระดับ Food Grade และต้องเหมาะสมต่อตัวลูกน้อยด้วย เนื่องจากไม่ใช่เด็กทารกทุกคนจะใช้จุกหลอกได้ เนื่องจากจุกหลอกผลิตจากยางและซิลิโคน เด็กที่มีอาการแพ้วัสดุประเภทนี้จะไม่สามารถใช้งานได้
-
สีสันจุกหลอกที่น่าดึงดูด
จุกหลอกก็เปรียบเสมือนขนมที่เด็ก ๆ ชอบ ยิ่งมีสีสันน่ารับประทานหรือน่าดึงดูดก็มักจะได้รับความสนใจจากเด็กเสมอ ช่วยให้เด็กกล้าและปรับตัวใช้จุกหลอกง่ายขึ้น อีกทั้งสีสันที่โดดเด่นสะดุดตายังช่วยให้สังเกตเห็นง่าย ป้องกันจุกหลอกหล่นหายหรือไม่หาเจอได้ดีเหมือนกัน
-
จุกหลอกต้องมีรูระบายอากาศ
รูระบายอากาศในจุกหลอกจะมีส่วนช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวกในขณะที่เด็กดูดจุกหลอก ทำให้ลมไม่เข้าไปในช่องท้องของเด็กมากจนเกินไป ลดความเสี่ยงต่ออาการท้องอืดในเด็กได้ดี
-
จุกหลอกต้องไม่มีส่วนผสมของสารบีสฟีนอลเอ (BPA)
สารบีสฟีนอลเอ (BPA) เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์กลุ่มพลาสติก มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะพบติดปะปนมากับจุกหลอกที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งสารเคมีชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเด็กเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองควรศึกษารายละเอียดสินค้าให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กำลังตัดสินใจในการใช้จุกหลอกก็อยากให้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง เพราะว่าจุกหลอกนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ของแต่ละครอบครัว ลองชั่งใจดูว่าสำหรับลูกน้อยของคุณแล้วนั้นจุกนมหลอกนั้นมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร หรือจะปรึกษาแพทย์เพื่อเป็นการช่วยตัดสินใจก็ได้ เพื่อความสบายใจและปลอดภัยของลูกน้อยของคุณ