เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องเคยเจอกับเหตุการณ์ที่กล่อมลูกน้อยจนใกล้หลับ แต่เมื่อพาลูกไปวางบนเตียง เด็กน้อยกลับแผดเสียงร้องไห้จ้าอีกครั้งและไม่ยอมนอนจนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะมาอุ้มเด็กไปแนบอกอีกรอบ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่มักเรียกอาการนี้ว่า “ลูกติดมือ” และมักจะดุคุณพ่อคุณแม่ของเด็กอีกด้วยว่าอาการติดมือเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่ตามใจลูกจนเกินไปและเข้าไปอุ้มทุกครั้งที่พวกเขาร้องไห้ แต่ในบทความนี้ Punnita จะพามาดูกันว่าสาเหตุที่ลูกน้อยติดมือ ร้องหาอ้อมอกแม่ทุกครั้งในขณะที่นอนหลับหรือยามตื่นเกิดมาจากสาเหตุที่พ่อแม่ตามใจเกินไปหรือไม่ และคุณพ่อคุณแม่สามารถแก้ปัญหาลูกน้อยติดมือ ให้พวกเขาได้นอนหลับสบายบนเตียงในยามที่ไร้พ่อแม่ได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้ลูกติดมือเกิดจากการอุ้มลูกบ่อยเกินไปจริงหรือ?
ทารกมักชอบร้องให้อุ้มโดยเฉพาะทารกที่อยู่ในช่วงวัยแรกเกิด ยิ่งทารกบางคนหากพ่อแม่ไม่ยอมอุ้มก็จะยิ่งร้องไห้แผดเสียงดังจนเหนื่อยหอบ ดูน่าสงสาร คุณพ่อคุณแม่ที่ไหนจะทำใจได้ที่เห็นลูกน้อยร้องไห้เจ็บปวดอยู่ตรงหน้าแล้วไม่ยอมอุ้มขึ้นมา แต่พออุ้มลูกบ่อย ๆ ก็กลัวจะเป็นเหมือนดังคำที่ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าการอุ้มลูกบ่อย ๆ จะทำให้พวกเขาเอาแต่ใจและติดมือจนพ่อแม่มือใหม่ไม่เป็นอันทำอะไรต้องคอยสลับกันมาอุ้มลูก แต่อยากบอกคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายว่าไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะที่เด็กน้อยร้องไห้งอแงบ่อย ๆ เกิดจากการที่พวกเขายังไม่คุ้นชินกับสภาพของโลกภายนอกที่แตกต่างออกไปจากท้องแม่ ทั้งการที่ได้ลอยอยู่ในน้ำคร่ำอุ่น ๆ และยังได้ยินเสียงจังหวะการเต้นของหัวใจของผู้เป็นแม่ตลอดเวลา และนี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเด็กน้อยถึงสงบลงได้ในยามที่ได้อยู่ในอ้อมอกโดยเฉพาะอ้อมอกของคุณแม่ นอกจากนี้การเอาลูกเข้าเต้าของคุณแม่เองก็ทำให้ลูกสงบลงได้เช่นเดียวกันเพราะเขาจะได้กลิ่นนมแม่ซึ่งเป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นน้ำคร่ำที่พวกเขาคุ้นเคย นอกจากนี้เวลาที่เด็ก ๆ ร้องไห้บ่อย ๆ เอง ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยเพราะสาเหตุของการร้องไห้อาจมาจากการที่พวกเขาไม่สบายตัว เช่นเป็นไข้ ผ้าอ้อมเต็ม หรืออยากเรอ เป็นต้น
และที่สำคัญการโอบกอดลูกน้อยบ่อย ๆ ยังส่งผลที่ดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยดังนั้นจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกได้เท่าที่ต้องการโดยไม่ต้องกลัวว่าลูกน้อยจะติดมือหรือเลี้ยงยาก เพราะการอุ้มทารกวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือนหลังจากที่พวกเขาร้องไห้ยังไม่ถือว่าเป็นการตามใจเพราะเด็กวัยนี้สื่อสารอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการร้องไห้เพื่อบอกความต้องการ และนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนจากโรงพยาบาลเด็กในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าการสัมผัสจากพ่อแม่ทำให้ลูกมีความสุข รู้สึกถึงความมั่นคง และรู้สึกอบอุ่นหัวใจ และเด็กที่ได้รับการสัมผัสมากพอ เซลล์สมองจะเติบโตได้ดี ประสาทสัมผัสเองก็จะมีความว่องไว และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่มีคนคอยอุ้ม โดยในการศึกษาวิจัยพวกเขาได้ทดลองกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด พบว่าเด็กที่มีพ่อแม่กับคนดูแลอุ้มบ่อยๆ นั้น จะตอบสนองกับการสัมผัสได้ดีมากกว่าเด็กที่ไม่ค่อยมีคนคอยอุ้ม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กน้อยที่ได้รับการสัมผัสจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่หรือถูกอุ้มบ่อย ๆ นั้น จะมีทั้งพัฒนาการที่ดี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปโดยรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ และสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในอนาคต
ลูกน้อยติดมือพ่อแม่ มีวิธีแก้ได้อย่างไรบ้าง
แต่อย่างไรก็ตามหากคุณพ่อคุณแม่มีกิจธุระจริง ๆ ที่ต้องไปทำในขณะที่ลูกน้อยนอนหลับ และต้องการให้พวกเขานอนหลับบนเตียงได้อย่างสบายใจ ไม่ผวายามที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ด้วย เราก็มีวิธีแก้ปัญหาลูกติดมือมาฝากกัน
- การจัดที่ทางในการนอนให้ใกล้เคียงกับตอนอยู่ในท้องแม่
สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งหมดทั้งการใช้ผ้าอ้อมห่อตัวเหมือนตอนแรกเกิด หรือการจัดวางหมอนข้างหรือผ้าม้วน ๆ กั้นไว้รอบตัวเด็กไม่ให้พวกเขารู้สึกว่าโล่งจนเกินไปจนเกิดอาการผวา - หากลูกน้อยมีอาการผวาหรือร้องไห้อย่าเพิ่งรีบอุ้ม
ข้อนี้สำคัญมากหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการลดอาการติดมือของลูก โดยเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของลูกน้อยอย่าเพิ่งพุ่งตัวเข้าไปอุ้ม แต่ให้ใช้มือตบไปที่ก้นช้า ๆ เบา ๆ และวางมือไว้ที่หน้าอก ให้เขารู้สึกผวาและตื่นกลัวน้อยลง แต่หากเขายังร้องไห้ไม่หยุดอาจเป็นเพราะเหตุผลอื่น ๆ เช่น หิวนมหรือไม่สบายตัว - ให้ลูกน้อยนอนเป็นเวลา
การฝึกให้ลูกน้อยนอนเป็นเวลา ทำกิจกรรมกับลูกให้มาก ๆ ในตอนกลางวัน ไม่ปล่อยให้พวกเขานอนกลางวัน จะทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย เพลีย และหลับง่ายในตอนกลางคืน ไม่ร้องไห้งอแงนาน ทั้งยังหลับลึกไม่ตื่นขึ้นมาร้องไห้งอแงในตอนดึก - อย่าปล่อยให้ลูกน้อยหลับคาอก
ข้อสุดท้ายก็สำคัญมากเช่นกันหากไม่อยากให้ลูกน้อยติดมือมากจนเกินไป การปล่อยลูกน้อยหลับคาอกบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กเกิดความเคยชิน เมื่อง่วงนอนก็จะโหยหาแต่อ้อมอกของพ่อแม่ และคุ้นชินกับไออุ่นของพ่อแม่พอวางลงบนเตียงก็ร้องไห้งอแง วิธีแก้คือเมื่อเห็นว่าลูกจะหลับให้วางลงบนเตียงอย่างเบามือ หากเกิดอาการผวาก็ให้ตบก้นเบา ๆ พร้อมวางมือแนบอกจนกว่าลูกน้อยจะหลับไป