เพราะทารกเป็นวัยที่ยังสื่อสารไม่ได้ เมื่อมีความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายจึงกลายเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องหมั่นสังเกตและช่วยเจ้าตัวเล็กรับมือกับปัญหานั้น ๆ อย่างเช่นอาการท้องผูกในทารกซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป แม้จะดูเป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยให้ลูกน้อยมีอาการท้องผูกแบบเรื้อรังก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจของพวกเขาในอนาคตได้
สาเหตุ ทารกท้องผูก ลูกท้องผูก อาการอย่างไร?
ทารกท้องผูกเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ อาทิ การรับประทานนมผงหรืออาหารเสริม การขาดสารอาหารจากน้ำนมแม่ การขาดน้ำ การแพ้นมวัว การขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย การคลอดก่อนกำหนด รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิดและโรคประจำตัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการทารกท้องผูกมักมีดังนี้
-
ท้องแข็ง
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการทารกท้องผูกได้ไม่ยาก โดยจะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่าลูกน้อยมีอาการท้องแข็งผิดปกติ เมื่อกดเบา ๆ บริเวณหน้าท้องของลูกจะรู้สึกได้ว่าไม่นิ่มเหมือนเดิม ซึ่งอาการท้องแข็งนี้เกิดจากภาวะท้องอืดและการสะสมของของเสียในร่างกาย ในทารกบางรายอาจมีอาการหงุดหงิด ร้องไห้ งอแงร่วมด้วย เนื่องจากพวกเขารู้สึกไม่สบายตัว
-
เบื่ออาหาร
ทารกที่กำลังประสบปัญหาท้องผูกส่วนใหญ่มักมีอาการเบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนมหรือเข้าเต้า หรือมักอิ่มเร็ว รวมถึงกินนมได้น้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพวกเขาจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง เพราะไม่ได้ขับถ่ายนั่นเอง
-
อุจจาระแข็ง เป็นเม็ดเล็ก
อาการทารกท้องผูกอีกประการหนึ่งที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดเจนคือลูกจะมีอุจจาระแข็ง โดยอุจจาระของลูกจะมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ คล้ายเม็ดกระสุน และในช่วงก่อนถ่าย ลูกมักร้องไห้ งอแง และใช้แรงเบ่งถ่ายมากกว่าปกติจนในบางครั้งอาจมีเลือดปะปนมากับอุจจาระร่วมด้วย
-
ความถี่ในการขับถ่าย
ทารกแรกเกิด-3 เดือนจะมีการขับถ่ายอยู่ที่ 2-3 ครั้งต่อวัน แต่อาการของทารกที่มีภาวะท้องผูกมักขับถ่ายไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการติดต่อกันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งหากลูกขับถ่ายน้อยผิดปกติแบบนี้ มั่นใจได้เลยว่าลูกกำลังมีอาการท้องผูกอยู่แน่นอน
หากลูกน้อยมีอาการเข้าข่ายว่าจะมีภาวะท้องผูก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องหาวิธีแก้ทารกท้องผูกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาท้องผูกในทารกให้ลูกโดยเร็วก่อนที่จะกลายเป็นภาวะท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งสามารถใช้แนวทางดังนี้
ทารกท้องผูก แก้ไขอย่างไร?
-
หลีกเลี่ยงการใช้นมวัว
อย่างที่ทราบกันดีว่าน้ำนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย และยังช่วยให้อุจจาระนิ่มและทำให้ลูกขับถ่ายได้ง่าย แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้นมผง ควรเลือกนมผงที่ไม่มีส่วนประกอบของนมวัว เพราะจะทำให้ทารกขับถ่ายยากได้
-
เลือกสูตรนมผงที่ช่วยขับถ่าย
สารอาหารบางชนิดในนมผงอาจทำให้กระบวนการย่อยทำงานช้าลง ทำให้อุจจาระของเจ้าตัวเล็กแข็งได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกสูตรนมผงที่ช่วยในการขับถ่าย และเมื่อชงนมก็ควรยึดตามสัดส่วนการชงนมที่ผู้ผลิตระบุไว้ ไม่ควรเปลี่ยนสูตรชงนมเอง
-
ช่วยให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวร่างกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้ลำไส้ของลูกน้อยทำงานได้ดีขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยการยกขาลูกสลับขึ้นลงไปมาเบา ๆ คล้ายกับการปั่นจักรยานอากาศ ซึ่งเปรียบเหมือนการออกกำลังกายในผู้ใหญ่ก็จะช่วยได้ทางหนึ่ง
-
นวดกระตุ้นลำไส้
การนวดกระตุ้นลำไส้หรือนวดแก้ท้องผูกเป็นการนวดเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนตัวของอุจจาระ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้มือกดนวดเบา ๆ บริเวณช่องท้องด้านซ้ายในตำแหน่งใต้สะดือลงไปประมาณ 3 นิ้วอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 2-3 นาที โดยอาจใช้เบบี้ออยล์ร่วมด้วย และสามารถนวดวันละหลายครั้งจนกว่าลูกจะมีอาการดีขึ้น
-
ปรับโภชนาของคุณแม่
เพราะน้ำนมแม่ส่งผลต่อลูกน้อยโดยตรง เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องผูกหรือขับถ่ายลำบาก คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกากใยให้กับลูกน้อย
-
เติมน้ำผลไม้ลงในน้ำนม
น้ำผลไม้จะช่วยให้ทารกขับถ่ายได้ง่ายขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถผสมน้ำแอปเปิล น้ำลูกพรุน หรือน้ำลูกแพร์ลงในน้ำนมวันละ 30-60 มิลลิลิตรเพื่อช่วยแก้ปัญหาท้องผูก
-
อาบน้ำอุ่น
การอาบน้ำอุ่นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของทารก เนื่องจากน้ำอุ่นจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวและช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องของลูกผ่อนคลาย จึงช่วยลดอาการท้องผูกในทารกได้
ทารกไม่ยอมถ่าย สวนอุจจาระได้หรือไม่?
หากทารก ท้องผูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสวนอุจจาระให้ลูกเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะการสวนอุจจาระหรือการสอดใส่สิ่งอื่น ๆ เข้าไปทางช่องทวารของลูกถือเป็นกระบวนการที่อาจรบกวนการทำงานของลำไส้และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่อ การสวนอุจจาระยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่อาจส่งผลในระยะยาวนั่นคือลูกอาจไม่ยอมถ่ายเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรสวนอุจจาระให้กับลูกด้วยตนเอง แต่หากพบว่าลูกท้องผูก ควรขอคำแนะนำจากแพทย์จะเป็นการดีที่สุด
หากเจ้าตัวเล็กของคุณกำลังประสบปัญหาภาวะท้องผูก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำเทคนิคแก้ปัญหาท้องผูกเบื้องต้นเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ แต่หากยังไม่เห็นผลภายใน 1-2 สัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์และขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เริ่มมีอาการท้องผูกเนิ่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าตัวเล็กในระยะยาว
ดูสินค้าแม่และเด็กเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.punnita.com