วิธีรับมือกับอาการ ‘โคลิก’ ที่ทำให้ลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุด

หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่เคยมีประสบการณ์กับลูกน้อยที่เคยเป็นโคลิกหรือกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ย่อมเข้าใจดีว่าเป็นประสบการณ์ที่หนักหนาสาหัสขนาดไหน เพราะถึงแม้จะได้รับการยืนยันจากคุณหมอว่าลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ที่ร้องไห้จ้าไม่หยุดเกิดจากอาการของโคลิก ซึ่งไม่เป็นอันตรายและจะหายเองได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่สามารถต่อสู้กับความกังวลและความเป็นห่วงที่ก่อตัวขึ้นมาในใจได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความกังขาในตัวเองในฐานะคุณพ่อคุณแม่โดยเฉพาะบางท่านที่เพิ่งเคยเป็นพ่อแม่ครั้งแรก ว่าเราทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่หรือเปล่านะ

ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ คือ ทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโคลิกให้มากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกน้อยของคุณกำลังเผชิญอยู่ว่าคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และมีอาการเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ไม่ตื่นตระหนก และสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างทันท่วงทีและไม่กังวลใจจนเกินไป ดังนั้นวันนี้ Punnita จะขอพาทุกคนมารู้จักกับอาการโคลิก ในเด็กให้มากขึ้นกัน

crying-red-haired-baby-blue-grey-clothes

“โคลิก” คืออะไร?

โคลิก เป็นภาวะที่ทารกมีการร้องไห้อย่างรุนแรงและคุณพ่อคุณแม่มักรู้สึกได้ว่าลูกร้องไห้มากกว่าปกติ โดยลูกน้อยของคุณอาจมีการร้องไห้มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และอาจมีอาการยาวนานเกิน 1 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยที่อาการดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นในเวลาเดิมซ้ำๆ ของในแต่ละวัน อาการของเด็กที่ร้องโคลิก สังเกตได้จาก ช่วงที่เด็กร้องไห้ เด็กจะร้องแผดเสียงดัง เสียงสูง หน้าแดง หน้าท้องเกร็ง กำมือแน่น ชูขาสูงขึ้น ร้องไม่หยุดนานเป็นชั่วโมง ปลอบให้หยุดได้ยาก ซึ่งอาการร้องโคลิกจะพบบ่อยที่สุดในช่วงเย็น ช่วงค่ำ

โดยภาวะนี้อาจจะเกิดได้ในทารกที่สุขภาพดี และมีอายุ 1 เดือน จนถึง 4 เดือน ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะโคลิกได้ แต่มีปัจจัยบางอย่างที่จะทำให้ภาวะโคลิกมีอาการที่รุนแรง และร้องได้นานมากขึ้น เช่น ปัจจัยจากภูมิแพ้ ปัจจัยเกี่ยวกับแก๊สที่อยู่ในลำไส้ของทารกที่มีมากเกินไป ปัจจัยจากการแพ้นม ทำให้ย่อยนมไม่สมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ เป็นต้น

และจากการสำรวจพบว่าอัตราการเกิดโคลิก เกิดในเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่และนมชงเท่า ๆ กัน จึงทำให้สาเหตุในเรื่องของการให้นมถูกปัดตกไป และที่สำคัญอาการโคลิกยังเป็นอาการที่เกิดได้กับเด็กทารกทุกคน โดยอัตราส่วนในการเกิดโคลิกในเด็กทารกมีมากถึง 1 ใน 5 ดังนั้น หากลูกน้อยของคุณเป็นหนึ่งในเด็กที่มีอาการโคลิก จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย หนทางที่ดีที่สุด คือ มาเตรียมตัวรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ที่สุดกันจะดีกว่า

mom-holding-baby-high-bright-room

รับมือกับอาการ “โคลิก” ของลูกน้อยอย่างไรดี?

เนื่องจากสาเหตุของอาการโคลิกที่ไม่แน่ชัด ทำให้วิธีการแก้โคลิกที่ทำให้หายขาดก็ไม่มีเช่นกัน นอกจากนี้แล้ววิธีการที่จะแนะนำต่อไปนี้ ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับเด็กที่เป็นโคลิกทุกคน หรืออาจใช้ได้ผลแต่ไม่เสมอไปบางครั้งอาจใช้ได้ บางครั้งก็อาจจะใช้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่แท้จริง คือ กำลังใจของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ย่อท้อ และผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้ เพราะอาการโคลิกมักหายไปเองหลังจากลูกน้อยมีอายุ 5 เดือนขึ้นไป โดยวิธีที่คุณพ่อคุณแม่อาจนำไปปรับใช้ได้ มีดังนี้

  • ในขณะที่ลูกร้องไห้ไม่ยอมหยุด ลองอุ้มพวกเขาขึ้นมาแนบชิดกับหน้าอกพร้อมโยกตัวเบา ๆ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ทารกได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่ชัดขึ้น เหมือนกับตอนที่พวกเขาอยู่ในท้อง อาจช่วยให้พวกเขาสงบลงได้
  • ทำให้ลูกน้อยผ่อนคลายด้วยการอาบน้ำอุ่น ๆ หรือนวดเพื่อผ่อนคลาย
  • อย่าลืมจับให้ลูกน้อยเรอทุกครั้งหลังรับประทานนมเสร็จ เพราะอาการไม่สบายท้องเป็นสาเหตุสำคัญที่มักทำให้ทารกน้อยวัยแรกเกิดร้องไห้ นอกจากนี้เวลาให้นมควรให้นมในขณะอุ้มลุกนั่ง ตัวตั้งขึ้น หรือตัวเอียง เพื่อให้นมไหลลงสู่กระเพาะได้ง่าย ลดอากาศที่จะหลุดเข้ากระเพาะและโอกาสที่จะเกิดอาการไม่สบายท้องลงด้วย
  • ลดสิ่งเร้ารอบตัวของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นลดแสงที่สว่างเกินไปหรือแสงที่ส่องเข้าตาของลูกน้อยโดยตรง ลดเสียงที่ดังหรือเสียงที่ทำให้เกิดความรำคาญ หรือเบาแรงลมที่ไปกระทบกับผิวของลูกน้อย

Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com
ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากอาการโคลิกของลูกน้อยยังไม่ดีขึ้น ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจหรือโทษตัวเองว่าดูแลลูกน้อยได้ไม่ดีพอ นี่เป็นเพียงอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน หากมั่นใจแล้วว่าคุณได้เอาใจใส่เจ้าตัวน้อยของคุณเป็นอย่างดีทั้งด้านอารมณ์และร่างกาย ให้มั่นใจและมีความหวังต่อไปว่าอาการโคลิกของลูกน้อยจะดีขึ้นเองในเร็ววัน