ในวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลกเกิดมานั้น คุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็ย่อมคาดหวังว่าลูกจะมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงดี แต่หากลูกเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับโรคที่ควรต้องระวังในเด็กแรกเกิด เพื่อที่จะได้หาวิธีป้องกันเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นเอง
-
ภาวะตัวเหลือง
เด็กทารกวัยแรกเกิดทุกคนจะมีอาการตัวเหลืองมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งพบว่าจะมีอาการตัวเหลืองมากที่สุดในช่วง 3 – 4 วันหลังคลอด โดยคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตลูกว่ามีอาการตัวเหลืองมากจนถึงขั้นเป็นอันตรายหรือไม่ เพราะอาจเป็นพิษต่อเนื้อสมองที่สร้างความเสียหายจนถึงขั้นสมองพิการแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่ถ้ายังคงมีชีวิตอยู่ก็อาจจะมีผลระยะยาวอย่างเช่นภาวะปัญญาอ่อนหรือการได้ยินบกพร่อง เป็นต้น
-
ภาวะติดเชื้อ
เด็กวัยแรกเกิดส่วนใหญ่มักจะมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือคลอดก่อนกำหนด จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าปกติและอาจจะลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการหายใจเร็วหรือหยุดหายใจจนมีลักษณะตัวเขียว มีไข้ มีอาการเกร็งกระตุก ตัวเย็น นอนซึมนิ่ง ๆ หากติดเชื้อถึงขั้นรุนแรงก็อาจทำให้ความดันต่ำจนช็อกถึงกับเสียชีวิตได้
-
ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว
เป็นอาการที่เกิดจากลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีการจัดเรียงตัวที่ผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด ทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงผนังลำไส้เกิดการบิดขั้วจนกระทั่งลำไส้อยู่ในภาวะขาดเลือด โดยจะเริ่มมีอาการอาเจียน ท้องอืด และถ่ายเป็นเลือด ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาอย่างเร่งด่วนอาจทำให้อยู่ในภาวะช็อกจนเสียชีวิตได้ แม้ว่าโรคนี้จะพบได้ไม่บ่อยเท่าโรคอื่น ๆ ก็ตาม
-
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ โรคหัวใจพิการชนิดมีภาวะตัวเขียวกับชนิดไม่มีภาวะตัวเขียว เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กวัยแรกเกิด โดยจะสังเกตได้จากอาการหายใจแรงและเร็ว จมูกบาน ริมฝีปากเขียวคล้ำ หน้าอกบุ๋ม ตัวเย็น ซี่โครงบาน ดูดนมแล้วหยุดเป็นพัก ๆ ซึ่งแพทย์อาจจะตรวจพบได้ว่าเสียงหัวใจทำงานผิดปกติ
-
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด
มักจะพบมากในพื้นที่ที่ผู้คนมีการบริโภคแร่ธาตุไอโอดีนค่อนข้างน้อย ซึ่งพบได้บ่อยพอสมควรสำหรับเด็กวัยแรกเกิดในประเทศไทย โดยเราไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของเด็กได้จากภายนอก ยิ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีภายใน 2 เดือนหลังคลอด จะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อระบบการทำงานของสมองและพัฒนาการเจริญเติบโต จนกระทั่งกลายเป็นภาวะปัญญาอ่อนหรือโรคดาวน์ซินโดรมในที่สุด
คุณแม่ควรหมั่นสังเกตลักษณะอาการของลูกอยู่เสมอหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว เลี้ยงดูเอาใจใส่ให้ดีอย่างมีคุณภาพ ลูกก็จะเจริญเติบโตด้วยสุขภาพที่แข็งแรงและมีชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคตค่ะ
ติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับลูกน้อยรวมไปถึงสินค้าแม่และเด็กได้ที่
Website: www.punnita.com