ความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นความรู้สึกที่คนเรารู้สึกกับสิ่งที่ตัวเองเป็นทั้งภายนอกและภายใน และการที่คนเรามีความมั่นใจในตนเองนั้นจะส่งผลให้คนคนนั้นมีภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดี ยอมรับตัวเองในแบบที่ตนเองเป็น และมีความมั่นใจไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร
และการมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงก็ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะต้องเป็นคนที่หยิ่ง ทะนงตัว หรือยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่หมายถึงการที่คนคนนั้นรับรู้และยอมรับในคุณค่าและความสำคัญของตนเอง รับผิดชอบต่อการกระทำที่ตนเองทำลงไป และแสดงออกถึงความเคารพและการดูแลเอาใจใส่ต่อผู้อื่นเป็นอย่างดีต่างหาก
เด็กที่ “มี” ความเชื่อมั่นในตนเอง vs เด็กที่ “ไม่มี” ความเชื่อมั่นในตนเอง
เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองมักจะ
- มีความสุข
- เข้ากับเพื่อนได้ง่าย
- มีความสุขกับการร่วมทำกิจกรรม
- ตื่นเต้นที่จะได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ
- สามารถเล่นได้ทั้งกับตนเองและผู้อื่น
- ชื่นชอบการคิดสร้างสรรค์และมีความคิดเป็นของตนเอง
- รวมถึงสามารถพูดคุยกับผู้อื่นได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไป
ส่วนเด็กที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองมักจะ
- มีเพื่อนน้อย
- รู้สึกอึดอัดและหมดกำลังใจได้ง่าย
- ไม่อยากเริ่มหรือลองทำอะไรใหม่ ๆ
- มีปัญหาในการทำตามกฎระเบียบหรือประพฤติตัวดีๆ
- ชอบเก็บเนื้อเก็บตัวหรือทำตัวเศร้าซึม
- และมักจะพูดคำว่า “ทำไม่ได้” อยู่บ่อยครั้ง
หากลูกน้อยของคุณไม่ชอบการที่ต้องอยู่กับผู้อื่นตลอดเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ เพราะการใช้เวลาอยู่คนเดียว เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญอีกทั้งยังดีต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากลูกน้อยของคุณเอาแต่อยู่คนเดียวเป็นประจำและไม่ชอบการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเลย คุณอาจต้องมีการปรึกษาพูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงการปลูกฝังเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองให้กับลูกน้อย
ความเชื่อมั่นในตนเองของลูกน้อยส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีของลูกน้อยของคุณ และมันจะส่งผลถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณกับลูกน้อยหรือคนอื่น ๆ และยังมีผลต่อวิธีที่พวกเขาจะแสดงออกในโรงเรียนหรือในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ด้วย และในท้ายที่สุดมันจะส่งผลถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำในที่ทำงาน
ความเชื่อมั่นในตัวเองจะช่วยให้เด็ก ๆ
- มีความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง
- เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง
- สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน
- สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น
- สามารถรับมือความเครียดและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต
- และรู้จักที่จะปฏิเสธอย่างมั่นใจในสถานการณ์ที่อันตรายต่าง ๆ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับลูกน้อย
- สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ คือ “การแสดงความรักและการยอมรับ” ด้วยการใช้เวลากับพวกเขาให้มาก ๆ หรือแสดงความรักด้วยการกอด หอม หรือวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะกับลูกน้อยของคุณ
- “โฟกัสกับความชอบและความสนใจของลูก” ด้วยการเล่นกับพวกเขา ฟังในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสาร และแสดงความสนใจในสิ่งที่ลูกของคุณเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ กิจกรรมที่พวกเขาทำ หรือปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ ให้พวกเขาเป็นผู้นำในการเล่นของคุณและแสดงออกว่าคุณเองพร้อมจะปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ
- “สร้างกฎหรือข้อบังคับที่ชัดเจนให้กับพวกเขา” ที่สำคัญคือกฎนั้นต้องเหมาะสมกับช่วงวัยของพวกเขาด้วย ต้องบอกกับพวกเขาด้วยว่าคุณคาดหวังอะไรจากพวกเขา และจะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามกฎ สิ่งนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัย และมีความมั่นใจมากขึ้นในการตัดสินใจของตนเอง
- “บอกกับเด็ก ๆ ว่าคุณรู้สึกมีความสุขมากและรู้สึกดีมาก” เวลาพวกเขาให้การช่วยเหลือคุณ ทำตามกฎระเบียบ หรือทำความดีต่าง ๆ อธิบายให้พวกเขาฟังว่าส่วนไหนที่คุณชอบเกี่ยวกับนิสัยของพวกเขา
- “สนับสนุนพวกเขาด้วยการชื่นชมอย่างจริงใจ แต่อย่าให้การชื่นชมที่มากเกินกว่าความเป็นจริง” เพราะจะไปสร้างความคาดหวังแทนที่ความภาคภูมิใจ ให้พวกเขาได้เรียนรู้และซึมซับด้วยตัวเองว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ นั้นต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม การฝึกฝนและทำซ้ำบ่อย ๆ จะทำให้พวกเขาพัฒนาตนเองได้ต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคตเอง