เบาหวานในแม่ท้อง ภาวะอันตราย รับมืออย่างไรได้บ้าง

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้เห็นลูกน้อยมีสุขภาพที่ดี สามารถลืมตาดูโลกได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง คุณแม่หลายคนคงพยายามศึกษาหาข้อมูลในการดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ แต่ในบางครั้งเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นสิ่งที่มาโดยไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว โดยเฉพาะ ‘โรคเบาหวาน’ ที่ใครหลายคนคิดว่าจะพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ในความเป็นจริง ‘โรคเบาหวาน’ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก IDF หรือสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ระบุไว้ว่า ‘เบาหวาน’ ภาวะอันตรายหรือโรคร้ายชนิดนี้พบได้บ่อยในกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีจำนวนมากถึง 20.9 ล้านคน หรือเทียบเป็น 16.2 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดย 5.1 เปอร์เซ็นต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) และ 7.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเบาหวานชนิดอื่นที่ตรวจพบตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้ 1 ใน 7 ทารก คลอดจากแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และหญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะอันตรายน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น

pregnant-woman-touching-her-belly

เบาหวานในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคเบาหวานในแม่ท้อง คือภาวะอันตรายที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้การทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายผิดปกติได้ ซึ่งโรคเบาหวานในแม่ท้องนั้นมีสาเหตุเกิดขึ้นได้ทั้งจากคุณแม่เป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์แล้ว หรือเพิ่งมาเป็นในขณะตั้งครรภ์ หากเกิดขึ้นในกรณีหลัง สาเหตุจะเกิดขึ้นจากรกในครรภ์นั้นสร้างฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ต่อต้านอินซูลินขึ้นมา (ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) ทำให้ระดับน้ำตาลของคุณแม่สูงขึ้นผิดปกติ จนป่วยเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่คุณแม่มีภาวะอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ความเสี่ยงต่อคุณแม่

 

  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดและปลายประสาทเสื่อม
  • เบาหวานขึ้นตา ทำให้สายตาของคุณแม่พร่ามัว หรือเบาหวานลงไต อาจทำให้ไตเสื่อมหรือไตวายได้
  • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
  • มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงจากการผ่าคลอด รวมถึงมีโอกาสตกเลือดหลังคลอดสูง
  • คุณแม่มีโอกาสสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อไปตลอดชีวิต

 

Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com

ความเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์

  • ระดับน้ำตาลที่สูงของคุณแม่จะส่งผลกระทบต่อลูกน้อย ทำให้มีขนาดตัวโตและน้ำหนักมากผิดปกติ กลับกันสุขภาพร่างกายจะไม่แข็งแรงเท่าเดิม ซึ่งเป็นผลเสียขณะการทำคลอด โดยอาจทำให้บริเวณหัวไหล่ของทารกติดระหว่างทำคลอด จนเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกได้ หรือในกรณีเลวร้ายอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตระหว่างทำคลอดได้เลยทีเดียว
  • ลูกน้อยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ
  • ลูกน้อยมีภาวะตัวเหลือง และเลือดมีความข้นเหนียวกว่าปกติ
  • สมองและระบบประสาทในเด็กทารกจะมีปัญหา รวมถึงมีการพัฒนาที่ช้าผิดปกติ
  • ลูกน้อยอาจไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด เนื่องจากระบบการหายใจมีปัญหา
  • เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในอนาคตได้ง่าย
  • ทารกอาจพิการ เช่น ไม่มีกะโหลกศีรษะ ภาวะหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง
  • ทารกมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดได้

วิธีการรับมือป้องกันเบาหวานในแม่ท้อง

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการเบาหวานในแม่ท้องสามารถป้องกันไม่เกิดขึ้นได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือความเข้มงวดและความใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพของคุณแม่

  • หมั่นดูแลรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด ทั้งก่อนและตลอดการตั้งครรภ์ 
  • คุณแม่ควรควบคุมอาหาร โดยให้ลดอาหารกลุ่มจำพวกแป้งและน้ำตาลสูง และควรรับประทานอาหารเพิ่มสารอาหารในกลุ่มโปรตีนและผัก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น มะม่วง หรือทุเรียน เพื่อป้องกันไม่เกิดภาวะเบาหวานในแม่ท้อง
  • หมั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างสมดุลร่างกาย
  • อย่าลืมตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ด้วย เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงสุขภาพร่างกายของตนเองอย่างละเอียดเสียก่อน พร้อมต่อการเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

adorable-cute-young-pregnant-woman-posing

การดูแลรักษาตนเอง เมื่อคุณแม่ทราบว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • คุณแม่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ควบคุมอาหารให้เหมาะสม รับประทานอาหารให้ตรงเวลา 3 ถึง 5 มื้อต่อวัน รวมถึงปริมาณอาหารจะได้อยู่ระดับที่เหมาะสม
  • ลดการรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลลง โดยให้เปลี่ยนมารับประทานข้าวซ้อมมือแทนข้าวขาว เพิ่มอาหารกลุ่มโปรตีน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เนื้อล้วนไม่ติดหนัง
  • งดอาหารประเภทน้ำหวาน น้ำผลไม้ และขนมหวาน
  • งดอาหารที่มีไขมันและเกลือสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว และอาหารทอดหรืออาหารผัดที่ใช้น้ำมันมาก ๆ
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ควรออกกำลังกายเป็นชนิดที่หนัก เพราะเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ด้วย
  • เข้ารับการตรวจเลือดและตรวจรักษาสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินภาวะสุขภาพทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ นำไปปรับเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
  • รับการรักษาโดยใช้ยารักษาเบาหวานแบบฉีด
  • หากคุณแม่พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที

ทราบกันแล้วใช่ไหมว่า เบาหวานในแม่ท้องนั้นถือเป็นภาวะที่อันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการป่วยเป็นภาวะแทรกซ้อนบางอาการที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อลูกน้อยถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวคุณแม่เอง คุณพ่อ หรือคนอื่น ๆ รอบตัว ควรช่วยกันดูแลประคับประคองดูแลรักษาสุขภาพคุณแม่และการตั้งครรภ์ให้ดีที่สุด ภาวะเบาหวานในแม่ท้องนั้นอันตราย แต่สามารถป้องกันได้ ขอแค่อย่าชะล่าใจ และหมั่นไปพบคุณหมอตามนัดเป็นประจำ เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม