การอุ้มทารกดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ยาก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องอุ้มลูกน้อยจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านก็มักรู้สึกประหม่าและเป็นกังวล กลัวจะอุ้มลูกไม่ถูกท่า กลัวลูกจะตก กลัวลูกจะไม่สบายตัว หรือแม้กระทั่งกลัวว่าลูกจะไม่ปลอดภัย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านควรเรียนรู้วิธีการอุ้มลูกที่ถูกวิธีเพื่อให้สามารถอุ้มเจ้าตัวเล็กได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยในท่าที่สบาย ๆ ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย
การอุ้มลูกน้อยด้วยท่าอุ้มลูกที่ถูกวิธีเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เพราะร่างกายลูกน้อยในขวบปีแรกยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ดังนั้น การอุ้มลูกด้วยท่าอุ้มลูกที่ถูกวิธีจะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูก ทำให้ลูกน้อยสามารถรู้สึกปลอดภัย สามารถสัมผัสความรัก ความอบอุ่น และช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างคุณพ่อคุณแม่และบุคคลใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี โดยท่าที่ใช้อุ้มทารก โดยเฉพาะวัยแรกเกิดถึง 3 เดือนมีดังนี้
-
ท่าไกวเปล
เป็นวิธีทั่วไปในการอุ้มลูกน้อยที่มีความเป็นธรรมชาติและง่ายที่สุด ท่าไกวเปลยังเป็นท่าที่สามารถสบตาลูกน้อยได้โดยตรง จึงสามารถสื่อถึงความรัก ความผูกพันได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่และเป็นท่าที่ใช้ให้นมลูกได้อีกด้วย
วิธีอุ้มลูกในท่าไกวเปลที่ถูกต้องมีดังนี้
- อุ้มลูกให้ขนานไปกับลำตัวในระดับอก
- ใช้มือข้างหนึ่งประคองคอและศีรษะของลูกไว้ กางนิ้วออกให้มากที่สุดเพื่อช่วยในการประคอง
- ใช้มืออีกข้างรองใต้ก้นและสะโพกของทารก
- งอแขนและข้อศอกเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ เลื่อนมือให้ศีรษะของลูกหนุนอยู่บนข้อศอกแบบสบาย ๆ
- กระชับเจ้าตัวเล็กเข้าหาตัว สามารถโยกตัวทารกไปมาได้เล็กน้อย ซึ่งจะช่วยให้ทารกนอนหลับได้ไวยิ่งขึ้น
-
ท่าอุ้มพาดบ่า
เป็นอีกหนึ่งท่าที่มีความเป็นธรรมชาติสูง ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย อีกทั้งสามารถเหยียดตัวได้อย่างสบาย ๆ โดยสามารถใช้ท่าอุ้มท่านี้หลังให้นมเพื่อให้ทารกเรอได้เช่นเดียวกัน
วิธีอุ้มลูกในท่าอุ้มพาดบ่าที่ถูกต้องมีดังนี้
- อุ้มทารกให้ขนานไปกับลำตัว ยกตัวทารกขึ้นให้สูงระดับไหล่
- ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและลำคอ ส่วนอีกข้างหนึ่งใช้ประคองก้นและช่วงหลังของลูก
- จัดให้ศีรษะของลูกหนุนอยู่ที่ช่วงไหล่ของคุณพ่อคุณแม่ ระวังไม่ให้ศีรษะของลูกพับข้ามไหล่ไปด้านหลัง
- ขาของลูกควรปล่อยให้ห้อยต่ำกว่าแขนของคนอุ้ม
- ให้มือประคองศีรษะและคอของลูกไว้ และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากต้องมีการโน้มตัวไปข้างหน้า
-
ท่าอุ้มนอนคว่ำ
ท่าอุ้มนอนคว่ำเป็นท่าที่ใช้อุ้มลูกน้อยเพื่อกล่อมให้พวกเขานอนหลับและช่วยให้เรอได้ โดยท่านี้จะเหมาะสำหรับคุณพ่อมากกว่าคุณแม่เนื่องจากต้องใช้กำลังแขนค่อนข้างมาก แต่หากคุณพ่อมีแขนเล็กหรือมีแต่กระดูกก็ควรหลีกเลี่ยงท่านี้เพราะอาจทำให้ลูกไม่สบายตัวได้
วิธีอุ้มลูกในท่าอุ้มนอนคว่ำที่ถูกต้องมีดังนี้
- จัดท่าให้ลูกนอนคว่ำโดยให้ช่วงหน้าท้องของลูกอยู่บนท่อนแขน หันหัวลูกไปทางข้อศอก
- ให้ศีรษะของทารกหนุนอยู่บนท่อนแขน และหันออกด้านข้างเพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก
- ปล่อยให้แขนและขาของลูกห้อยลงและคร่อมอยู่บนแขนที่ใช้ประคอง
- ใช้มืออีกข้างวางไว้บนหลังเจ้าตัวเล็กหรือลูบเบา ๆ เพื่อทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย
- คอยประคองช่วงศีรษะและช่วงคอให้ดีตลอดเวลา
-
ท่าอุ้มหันหน้าเข้าหากัน
เป็นการอุ้มทารกที่ทำให้คุณสามารถสื่อสารกับเจ้าตัวเล็กได้ดีที่สุดเนื่องจากสามารถสบตากันได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
วิธีอุ้มลูกในท่าอุ้มหันหน้าเข้าหากันที่ถูกต้องมีดังนี้
- อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาตัวคุณพ่อคุณแม่ โดยให้ลำตัวลูกขนานไปกับลำตัวคุณพ่อคุณแม่ในระดับอก
- ประคองศีรษะและคอของลูกด้วยมือข้างหนึ่ง
- ใช้มืออีกข้างรองใต้ก้นและสะโพกของลูก
- กระชับลำตัวช่วงล่างของเจ้าตัวเล็กแนบตัวคุณพ่อคุณแม่ในระดับต่ำกว่าอก
- สามารถพูดคุย หยอกล้อ และเล่นกับลูกได้
-
ท่าอุ้มวางตัก
การอุ้มลูกแบบวางบนตักเป็นท่าที่เหมาะสำหรับการพูดคุย หยอกล้อลูกที่ดีที่สุดท่าหนึ่ง เพราะทำให้ลูกได้เห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ และทำให้ลูกน้อยเรียนรู้และไว้ใจคุณพ่อคุณแม่ว่าเป็นผู้ที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่สุด
วิธีอุ้มลูกในท่าอุ้มวางตักที่ถูกต้องมีดังนี้
- นั่งในท่าที่สบาย วางตัวลูกบนหน้าขาที่ชิดกัน
- ศีรษะลูกอยู่ในตำแหน่งใกล้หัวเข่าของคุณพ่อคุณแม่
- ใช้มือทั้งสองข้างประคองไว้ใต้ศีรษะของเจ้าตัวเล็ก
- ใช้แขนขนาบลำตัวของลูกเอาไว้ทั้งสองข้างเพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
- ใช้ความระมัดระวังเมื่อลูกดิ้นแรงหรือหัวเราะ
เคล็ด (ไม่) ลับในการอุ้มลูก
- คุยเล่นและสื่อสารกับลูกก่อนอุ้มเพื่อให้ลูกคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัย
- หากยังรู้สึกไม่มั่นใจ ให้เริ่มอุ้มด้วยการนั่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด
- ประคองศีรษะและคอของลูกไว้ตลอดเวลา
- ร่างกายของทารกแรกเกิดจนถึง 3 เดือนนั้นยังมีความบอบบางอยู่มาก ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ไม่อุ้มทารกด้วยการจับท้องตรง ๆ เพราะอาจทำให้กระดูกสันหลังของลูกบาดเจ็บได้
- ไม่เขย่าตัวลูกแรง ๆ หรือเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เพราะอาจทำให้ทารกได้รับอันตรายได้
อย่างไรก็ตามก่อนอุ้มลูกน้อยทุกครั้ง อย่าลืมล้างมือให้สะอาด เพราะระบบภูมิคุ้มกันของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ เชื้อโรคที่ติดอยู่ตามมือของเราอาจทำให้ลูกน้อยป่วยได้ และเมื่อต้องอุ้มลูกน้อยจริง ๆ ต้องพยายามไม่เกร็งและรู้สึกมั่นใจเข้าไว้ พร้อมประคองคอและศีรษะของลูกเสมอ เพียงเท่านี้เจ้าตัวเล็กก็สามารถสัมผัสถึงสายใยแห่งรักได้อย่างเต็มที่แล้วค่ะ
ดูสินค้าแม่และเด็กเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.punnita.com
ขอขอบคุณรูปภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์: https://www.momjunction.com/articles/ways-hold-new-born-child_0085453/