ปัญหาท้องผูกในทารกเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย และด้วยวัยทารกเป็นวัยที่ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจและหมั่นสังเกตความผิดปกติของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควรศึกษาวิธีแก้ท้องผูกในทารกที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้พวกเขากลับมาขับถ่ายได้ตามปกติได้อย่างเหมาะสม
ทารก ถ่ายแค่ไหนถึงเรียกว่าพอดี?
ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือนที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไปจะถ่ายอยู่ที่ 2-3 ครั้งต่อวัน เมื่ออายุได้ 3-6 เดือน จะถ่ายอยู่ที่ 2-4 ครั้งต่อวัน และสำหรับทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะถ่ายเพียง 1-2 ครั้งต่อวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทารกอาจไม่ได้ถ่ายทุกวันเสมอไป การที่ลูกไม่ถ่ายหรือถ่ายน้อยกว่าปกติไม่ได้หมายความว่าลูกจะมีภาวะท้องผูก ดังนั้น หากสงสัยว่าลูกกำลังท้องผูกหรือไม่ ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
ทารกท้องผูก อาการเป็นอย่างไร?
ทารกแต่ละคนมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ สำหรับทารกที่ท้องผูกมักมีอาการดังต่อไปนี้
-
ไม่ค่อยถ่ายหรือถ่ายน้อยกว่าปกติ
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าความถี่ในการขับถ่ายของทารกแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แต่หากทารกไม่ขับถ่ายเลยเป็นเวลามากกว่า 2-3 วันติดต่อกัน อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการท้องผูกในทารกได้
-
ใช้แรงเบ่งถ่ายมาก
หากสังเกตว่าลูกต้องใช้แรงเบ่งถ่ายมากกว่าปกติหรือมีอาการงอแง ร้องไห้ในขณะขับถ่าย อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังรู้สึกไม่สบายท้องได้
-
อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
ทารกท้องผูกมักถ่ายออกมาเป็นก้อนแข็ง แห้ง หรือถ่ายเป็นเม็ดแข็ง ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะท้องผูกที่ค่อนข้างชัดเจน แต่หาก 2-3 วันถ่ายที แต่อุจจาระมีลักษณะนิ่ม ไม่แข็ง แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นท้องผูก
-
กินน้อยลง
ทารกส่วนใหญ่ที่มีอาการท้องผูกมักรู้สึกไม่สบายท้อง ทำให้พวกเขาไม่กินนมหรือกินได้น้อยกว่าปกติ
-
ท้องแข็ง
เมื่อสัมผัสที่หน้าท้องของลูกจะพบว่าท้องของลูกมีลักษณะแข็ง ตึง แน่น ซึ่งเป็นอาการของภาวะท้องอืดที่มักเกิดร่วมกับการท้องผูก
-
มีเลือดปนมากับอุจจาระ
เช่นเดียวกับโรคท้องผูกในผู้ใหญ่ หากลูกน้อยขับถ่ายโดยมีเลือดปนมากับอุจจาระอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผนังทวารหนักอาจฉีกขาดจากอาการท้องผูกหรือใช้แรงเบ่งถ่ายมากเกินไป
ภาวะท้องผูกในทารกเกิดจากสาเหตุใด?
ภาวะท้องผูกในทารกเกิดจากสาเหตุหลายประการ อย่างในทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องผูกจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างอาการแพ้โปรตีนในน้ำนมหรือเป็นผลจากอาหารบางชนิดที่คุณแม่รับประทานและส่งผลต่อลูกผ่านทางน้ำนมแม่ หรือการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำให้ระบบย่อยอาหารยังเจริญไม่เต็มที่และยังย่อยได้ไม่สมบูรณ์ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้งและแข็ง ไปจนถึงอาการของภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease: HD) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 5,000 คน และจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนอาการท้องผูกในทารกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจะมีสาเหตุมาจากสภาพร่างกายและปัญหาสุขภาพ เช่น การให้ดื่มนมชงเพียงอย่างเดียว การรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดท้องผูก ภาวะขาดน้ำที่ทำให้อุจจาระแห้งและแข็ง รวมถึงปัญหาสุขภาพอย่างภาวะไฮโปไทรอยด์ โบทูลิซึม (Botulism) อาการแพ้อาหารบางชนิด โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร เป็นต้น
ทารกท้องผูก ดูแลและแก้ไขอย่างไร?
อาการท้องผูกไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกไม่สบายตัวเท่านั้น แต่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคบางชนิดในอนาคตได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยกำลังมีภาวะท้องผูกควรรีบแก้ไขทันที โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคุณแม่
ในทารกแรกแรกถึง 3 เดือนหรือทารกที่กินนมจากเต้าเพียงอย่างเดียว เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากอาหารที่คุณแม่รับประทาน คุณแม่จึงควรเปลี่ยนเมนูอาหารให้มีประโยชน์และหลากหลายขึ้น
-
เปลี่ยนสูตรนมผง
หากลูกน้อยเริ่มกินนมผงแล้ว อาจเปลี่ยนจากนมผงสูตรปกติเป็นสูตรย่อยง่าย ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนปริมาณสารอาหารและเสริมพรีไบโอติกเข้าไปเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเด็กที่มีปัญหาการขับถ่าย ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น
-
ผสมน้ำผลไม้ลงในนมให้ลูก
สำหรับทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถผสมน้ำผลไม้ที่มีซอร์บิทอล ซึ่งเป็นยาระบายตามธรรมชาติ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกแพร์ลงในอาหารหรือนมของลูกวันละประมาณ 30-60 มิลลิลิตรเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
-
เพิ่มผักผลไม้ที่มีกากใยในอาหาร
หากลูกเริ่มทานอาหารแล้ว สามารถผสมผักหรือผลไม้ที่มีกากใยอาหาร เช่น ลูกแพร์ บร็อคโคลี่ ลูกพรุน แอปเปิ้ล มะละกอสุกให้ลูกทานเพิ่มได้ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการท้องผูก เช่น ข้าวขาว กล้วยห่าม ๆ เพราะทำให้ย่อยยาก
-
ปล่อยให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
การอุ้มลูกตลอดเวลาหรือให้ลูกอยู่เฉย ๆ นาน ๆ อาจส่งผลให้ลำไส้ของลูกไม่มีการเคลื่อนไหว ทำให้ลำไส้ไม่บีบตัวจนถ่ายยากหรือถ่ายไม่ออกได้ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้พวกเขาเคลื่อนไหวหรือขยับตัวให้มากขึ้น
-
นวดท้องกระตุ้นการขับถ่าย
การนวดท้องเด็กอย่างถูกวิธีจะช่วยกระตุ้นลำไส้ ทำให้ลูกขับถ่ายง่ายขึ้น วิธีนวดท้องลูกอย่างถูกต้องคือการนวดท้องส่วนล่าง ซึ่งอยู่ใต้สะดือลงมาประมาณ 3 นิ้วมือ สามารถนวดได้โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ สัก 2-3 นาที หมั่นนวดวันละหลายครั้ง และอาจใช้เบบี้ออยล์เพื่อช่วยในการนวดก็ได้
อาการท้องผูกทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัวและทรมานได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่นำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ รับรองว่าลูกน้อยก็จะห่างไกลจากอาหารท้องผูกอย่างแน่นอน และอย่าลืมหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก หากปฏิบัติตามนี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรักษาอาการท้องผูกทารกด้วยวิธีทางการแพทย์อย่างเหมาะสมต่อไป
ดูสินค้าแม่และเด็กเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.punnita.com