การสร้างสัมพันธ์อันดีกับลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงที่การพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจของเด็กกำลังเริ่มต้น และความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณแม่คุณพ่อจะช่วยเสริมสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงสำหรับการเติบโตในอนาคตให้กับลูกน้อยได้ดีอีกด้วย ดังนั้นในบทความนี้ Punnita จะมาช่วยอธิบายถึงวิธีการสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยให้คุณแม่ทุกครอบครัวสามารถลองนำไปปรับใช้กับลูกน้อยกันได้
-
ขณะตั้งท้อง
คุณแม่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าเราสามารถสร้างสัมพันธ์กับลูกน้อยได้ตั้งแต่ขณะลูกอยู่ในครรภ์ ผ่านการพูดคุยและร้องเพลงให้ลูกฟังสามารถช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแม่กับลูกได้ การสัมผัสหน้าท้องด้วยมืออย่างนุ่มนวลก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสื่อสารและแสดงความรัก รวมถึงการที่แม่ดูแลสุขภาพจิตใจและร่างกายให้ดี เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ลูกในครรภ์ได้รับสารอาหารที่ดีและมีพัฒนาการที่ดีเช่นกัน
-
อายุแรกเกิดจนถึง 1 เดือน
ในช่วงแรกเกิด ลูกน้อยต้องการความรู้สึกปลอดภัยจากการสัมผัสและความรัก การอุ้ม การกอด และการสัมผัสอย่างอ่อนโยนจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกเกิด ลูกน้อยอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจได้ แต่การพูดคุยเล่น รวมถึงแสดงสีหน้ากับลูกน้อยจะช่วยให้ลูกได้ยินเสียงของพ่อแม่ จดจำ ทำตาม และรู้สึกถึงความรักและการเอาใจใส่ได้ และเมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 เดือน สามารถให้ลูกเริ่มเล่นของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา เพื่อกระตุ้นการมองเห็นและฝึกสายตาของเด็ก เช่น สีแดง ส้ม ฟ้า เหลือง มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรีด้วยก็จะยิ่งดี ของเล่นที่จับบีบแล้วมีเสียงจะช่วยดึงดูดความสนใจและลูกจะเริ่มโฟกัสที่วัตถุตรงหน้า
-
อายุ 2 เดือน ถึง 4 เดือน
เมื่อลูกน้อยเข้าวัย 2 เดือน เด็กจะเริ่มยิ้มทักทาย ยิ้มตอบกลับ และแสดงท่าทางดีใจที่แม่อุ้มได้แล้ว เริ่มชันคอในท่าคว่ำได้ เริ่มมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมา การเล่นเพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกน้อยในช่วงวัยนี้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่การฝึกพูดคุยทักทายกลับลูกน้อย เพราะเด็กจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้กลับได้บ้างแล้ว รวมถึงการอ่านหนังสือภาพและการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นในหนังสือ และการฝึกให้ลูกน้อยเล่นกับของเล่นสีสันต่าง ๆ พร้อมเรียกชื่อสีไปด้วย จะช่วยเสริมพัฒนาการสื่อสาร การจดจำ ทักษะการฟังและสร้างความรักการอ่านของเด็กได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
-
อายุ 5 เดือน ถึง 8 เดือน
ในช่วงนี้ลูกน้อยเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น การคลาน การให้ลูกได้ลองเคลื่อนไหวและสำรวจรอบ ๆ บ้านจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อและการประสานงาน อีกทั้งในช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มจำหน้าพ่อแม่ได้ รับรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แม้จะเห็นเพียงบางส่วนก็ตาม นับเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับฝึกให้ลูกน้อยได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับบุคคลอื่นนอกจากพ่อแม่มากขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มสื่อสารพยางค์เดียวได้บ้างแล้ว เช่น หม่ำ ป๊ะ ม๊ะ เป็นต้น
-
อายุ 9 เดือน ถึง 12 เดือน
ลูกน้อยจะเริ่มมีรู้สึกคุ้นชินกับการพบปะผู้คนมากขึ้น คุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัวบ้าง เช่น การช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางครอบครัว จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว รู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่น และความเอาใจใส่ คุณแม่ที่ไม่รู้จะเล่นกับลูกน้อยวัยนี้อย่างไร อาจจะเล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ เล่นซ่อนหาสิ่งของ หรือสอนคำศัพท์ต่าง ๆ ไปด้วยก็ได้ เนื่องจากเด็กวัยนี้จะฟังรู้ภาษามากขึ้นถ้าเสริมด้วยของเล่นเข้าไปจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการได้อย่างรอบด้าน
การสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้อยเป็นกระบวนการที่คุณแม่ต้องใช้เวลาและความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีกับลูกน้อยเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเอาใจใส่ลูกในทุก ๆ วัน เพราะการที่คุณแม่ให้ความเอาใจใส่และเข้าใจพัฒนาการลูกน้อยอย่างดีเยี่ยม ไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกน้อยได้รับการกระตุ้นและตอบสนองได้อย่างตรงจุดเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของเด็ก ลูกน้อยจะรู้สึกมีความสุขและอบอุ่นใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
Punnita ศูนย์รวมสินค้าแม่และเด็กวงจร อยากให้คุณแม่รวมถึงหนูน้อยปลอดภัยและมีความสุขกับทุก ๆ โมเมนต์ของการเจริญเติบโตร่วมกัน และเราพร้อมให้บริการจัดจำหน่ายและให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมของใช้สำหรับคุณแม่คุณพ่อมือใหม่อย่างจริงใจ ท่านใดสนใจสามารถปรึกษาเราได้นะคะ