คุณแม่ทุกท่านย่อมอยากให้ลูกคลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ มีพัฒนาการและภูมิคุ้มกันที่ดี ดังนั้น เมื่อทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ คุณแม่จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์และดูแลตนเองให้ดีที่สุด เนื่องจากทุกการกระทำของคุณแม่ล้วนส่งผลถึงลูกน้อยในครรภ์แทบทั้งสิ้น Punnita จะมาเผยเคล็ดลับและวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ให้กับคุณแม่ทุกท่านได้ทราบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยของคุณจะมีสุขภาพดี แข็งแรง มีพัฒนาการทางด้านสมองและอารมณ์ที่ดี ปราศจากความเสี่ยงทั้งคุณและลูกน้อยในครรภ์
-
รีบฝากครรภ์ทันที
สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำเมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ คือ การทำเรื่องฝากครรภ์ในทันที เนื่องจากการตั้งครรภ์จะมาพร้อมกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ การอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด เพราะแพทย์จะสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาเมื่อคุณแม่เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
-
เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม
ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องได้รับปริมาณแคลอรี่และสารอาหารเพิ่มมากขึ้นจากเดิม สารอาหารที่ควรเน้น ได้แก่ อาหารจำพวกโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ เนื่องจากร่างกายจะต้องนำสารอาหารเหล่านี้ไปเลี้ยงลูกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอก็อาจทำให้ลูกขาดสารอาหารตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและระดับสติปัญญาของทารกโดยตรง
-
เสริมวิตามินและแร่ธาตุตามคำแนะนำของแพทย์
วิตามินเป็นสิ่งจำเป็นในขณะตั้งครรภ์ โดยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่
- กรดโฟลิก: ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ของการสร้างตัวอ่อนในครรภ์และพัฒนาการทางสมอง ป้องกันโรคพิการแต่กำเนิด
- ธาตุเหล็ก: ป้องกันภาวะโลหิตจางในคุณแม่ และช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและภาวะแท้งบุตร
- ไอโอดีน: มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก การขาดไอโอดีนจะทำให้ทารกแคระแกรน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดความผิดปกติทางสมอง หูหนวก เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
- แคลเซียม: ช่วยป้องกันภาวะสูญเสียมวลกระดูกให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ ลดอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ความผิดปกติของทารก และภาวะคลอดก่อนกำหนด
-
ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
น้ำเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ยังต้องดูแลอีกหนึ่งชีวิตด้วย คุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้ได้ 10-12 แก้วในแต่ละวันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลำเลียงสารอาหาร แร่ธาตุ รวมไปถึงออกซิเจนสู่ทารกในครรภ์ และช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะ ตะคริว และอาการท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์ และทำให้ผิวพรรณดี ไม่แห้งแตก หยาบกร้าน อีกทั้งช่วยลดความร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี
-
ออกกำลังกายอย่างพอดี
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีความเสี่ยง อาทิ มีประวัติแท้งบุตร ครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคหัวใจ ความดันสูง เบาหวาน ฯลฯ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเมื่อมีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป การออกกำลังกายจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี และช่วยให้นอนหลับสบาย โดยควรเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิค โยคะ เป็นต้น เบื้องต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกายและภาวะเสี่ยงก่อนเริ่มออกกำลังกาย
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรนอนหลับให้เพียงพอหรืออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงในแต่ละคืน และไม่ควรเข้านอนเกิน 4 ทุ่ม โดยการนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตดี อีกทั้งทำให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดี จิตใจแจ่มใส แต่หากนอนน้อยจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่ท้องและลูกในท้อง มีโอกาสที่เด็กในครรภ์จะตัวเล็กได้
-
ใส่ใจเรื่องสุขลักษณะ
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่จะทำงานได้จำกัด จึงอาจเกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย คุณแม่จึงควรใส่ใจวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์มากเป็นพิเศษตั้งแต่การหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนควรดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีเพื่อความปลอดภัยของทั้งทารกและคุณแม่เอง อาทิ หมั่นดูแลความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า ของใช้ และเครื่องนอนให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่สัมผัสมูลสัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคและพยาธิเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้
-
ทำอารมณ์ให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายของคุณแม่จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา ทำให้ลูกในครรภ์รับรู้อารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ได้ผ่านทางกระแสเลือด อีกทั้งทำให้เส้นเลือดเกิดการหดตัว ทำให้ลำเลียงออกซิเจนได้ไม่ดี ส่งผลต่อการเจริญเติบโต เพิ่มโอกาสการติดเชื้อในครรภ์ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ตลอดจนส่งผลกระทบทางด้านการเรียนรู้และอารมณ์ของลูก ทำให้เด็กเลี้ยงยากและมีภาวะซึมเศร้าได้ หากคุณแม่รู้สึกว่าตนเองเริ่มเครียดก็ควรหาวิธีจัดการกับความเครียดดังกล่าว และปรับอารมณ์ให้แจ่มใส
-
หมั่นกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์
คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์เพื่อให้ลูกน้อยมีความฉลาด อารมณ์ดี ไหวพริบดี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสท้องหรือลูบหน้าท้องเบา ๆ เล่านิทาน พูดคุย ร้องเพลง ฟังเพลง ดมกลิ่นหอม ๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์เหล่านี้เองจะส่งผลต่อความฉลาด อารมณ์ และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
และนี่ก็คือวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์เบื้องต้นที่คุณแม่ทุกท่านก็สามารถทำได้ ซึ่งหากคุณแม่ปฏิบัติตามวิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ได้ครบทุกข้อ รับรองว่าการตั้งครรภ์ของคุณจะเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดจนถึงวันที่ลูกน้อยลืมตาออกมาดูโลก และส่งผลให้พวกเขามีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างแน่นอน ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมีความสุขกับช่วงเวลาที่แสนพิเศษเหล่านี้ค่ะ