ต่อมไทรอยด์ เป็นหนึ่งในต่อมไร้ท่อสำคัญของร่างกาย ที่อยู่บริเวณส่วนล่างของกลางลำคอ ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง นอกจากนี้ยังเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นของคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ทารกยังไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เอง จึงต้องมีการดึงเอาฮอร์โมนจากผู้เป็นแม่ไปใช้
ดังนั้นฮอร์โมน HCG และฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นในช่วงของการตั้งครรภ์จะยิ่งไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากขึ้นและผลิตฮอร์โมนออกมาเยอะขึ้น ระดับของฮอร์โมนจึงจะสูงมากในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้บางคนมีอาการแพ้ท้องได้ง่ายหรือมีผลการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่มีลักษณะไทรอยด์เป็นพิษ เมื่อผ่านไตรมาสแรกไปอาการจึงจะค่อยๆลดลง หรือคุณแม่บางรายอาจมีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์เป็นพิษหรือภาวะพร่องไทรอยด์อยู่ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ แต่เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนที่ผิดปกติเพียงเล็กน้อยและมีอาการที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ แต่อาการของโรคไทรอยด์จะปรากฏชัดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์
ทั้งอาการฮอร์โมนเป็นพิษและภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ จึงไม่แปลกใจหากคุณหมอจะเจาะเลือดเพื่อเช็กความผิดปกติของค่าฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดทุกครั้งที่นัดพบแพทย์ มาดูกันว่าฮอร์โมนไทรอยด์จะส่งผลอย่างไรได้บ้างกับการตั้งครรภ์ของคุณแม่ในครั้งนี้
ความสำคัญของต่อมไทรอยด์กับลูกน้อยในครรภ์
ในช่วงของการตั้งครรภ์ก่อนสัปดาห์ที่ 10-12 ทารกในครรภ์ยังไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการรับเอาฮอร์โมนจากร่างกายของแม่ และหลังจากสัปดาห์ที่ 10-12 เป็นต้นไปจึงจะสามารถสร้างฮอร์โมนได้ด้วยตนเอง เป็นที่มาที่ทำให้อาการไทรอยด์เป็นพิษหรืออาการแพ้ท้องง่ายค่อยๆ บรรเทาลง
โดยฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกายของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมอง ทำให้ระบบประสาททำงานอย่างเป็นปกติ ป้องกันภาวะปัญญาอ่อนหรือสติปัญญาบกพร่อง และยังทำหน้าที่เช่นเดียวกับร่างกายของคนเป็นแม่คือ การกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานเพื่อให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ผลกระทบจากไทรอยด์เป็นพิษต่อมารดาและทารกในครรภ์
เนื่องจากทารกในครรภ์จะได้รับอิทธิพลจากปริมาณค่าฮอร์โมนไทรอยด์ของผู้เป็นแม่ ดังนั้นหากแม่มีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์สูงจนเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษก็ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน
- ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่เนื่องจากไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ การแท้งบุตร ภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ (เกิดความดันโลหิตสูง บวม ชักได้) และอาการที่รุนแรงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ ซึม โคม่า ตับวาย หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์จากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ น้ำหนักตัวน้อย คอพอก หัวใจเต้นเร็ว หรือเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์
ภาวะพร่องไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ อีกหนึ่งอาการสำคัญที่ต้องระวัง
ภาวะพร่องไทรอยด์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์แต่มีสาเหตุที่ต่อเนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ สาเหตุของภาวะไทรอยด์ต่ำที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (Hashimoto thyroiditis) หรือพบได้ในคุณแม่ที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกหรือรับการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี
โดยภาวะพร่องฮอร์โมนที่ไม่ได้รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ได้แก่ ภาวะแท้งบุตร รกลอกตัวก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด ตกเลือดหลังคลอด ส่วนในทารกจะส่งผลให้น้ำหนักตัวน้อย ภาวะตายคลอด ทารกหายใจลำบากหลังคลอด
วางแผนก่อนการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูก
จะเห็นได้ว่าค่าฮอร์โมนไทรอยด์ที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาปกติ กลับเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในขณะที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นการป้องกันและการรับมือที่ดีที่สุด คือการปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และตรวจหาความพร้อมในการตั้งครรภ์ หากตรวจตรวจพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และรักษาให้เป็นปกติก่อนการตั้งครรภ์ ก็จะเพิ่มความปลอดภัยและลดโอกาสเสี่ยงๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ลง
Punnita ศูนย์รวมสินค้าแม่และเด็กวงจร อยากให้คุณแม่รวมถึงหนูน้อยในครรภ์ปลอดภัยและมีความสุขกับทุกๆโมเมนต์ของการเจริญเติบโต และเราพร้อมให้บริการจัดจำหน่ายและให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมของใช้สำหรับคุณแม่คุณพ่อมือใหม่อย่างจริงใจ