อยากรู้ไหม ทำไมเด็กเล็กถึงยังไม่ควรกินขนมหวานและน้ำตาล

ขนมหวานกับเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก เนื่องจากเด็กเล็กเป็นวัยที่ต่อมรับรสหวานกำลังเติบโต พัฒนาการได้เร็วกว่าต่อมรับรสอื่น ๆ จึงทำให้เด็กเล็กมักติดขนมหวานและน้ำตาลได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาจากกลไกของร่างกายเด็กเล็กเองด้วยที่เมื่อรับประทานน้ำตาลเข้าไปในกระแสเลือดแล้ว สมองของเด็กจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ออกมา ส่งผลให้เด็กรู้สึกร่าเริง ยิ้มแย้มหลังได้รับประทานขนมหวาน คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงอาจจะหลงผิดเชื่อว่าการให้เด็กรับประทานขนมหวานและอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถือเป็นผลดีต่อตัวเด็ก ๆ แต่ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่านั่นคือความเชื่อที่ผิด

เด็กเล็กกินขนม

ขนมหวานและน้ำตาลส่งผลเสียต่อเด็กเล็กอย่างไร?

เมื่อเด็กเล็กได้รับประทานขนมหวานและน้ำตาลเร็วเพียงใด เมื่อโตขึ้นลูกน้อยของคุณจะมีความต้องการเพิ่มปริมาณความหวานของอาหารมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งทำให้เด็กอยากที่จะรับประทานขนมหวานมากขึ้นไปอีก เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายและมีผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยด้วย

  • อาการติดรสหวานและมีสุขภาพฟันที่ไม่ดี

เด็กเล็กที่รับประทานขนมหวานและน้ำตาลบ่อย ๆ มักมีอาการติดรสหวาน ซึ่งเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่หยิบยื่นให้เด็กรับประทาน ยิ่งให้เด็กทานหวานเร็วเท่าใด โอกาสที่ลูกน้อยของคุณจะติดรสหวานได้เร็วขึ้นเท่านั้น อีกทั้งการปล่อยให้ลูกน้อยทานขนมหวานและน้ำตาลในปริมาณมาก ยังส่งผลให้ฟันน้ำนมผุก่อนวัยอันควรหรือผุเร็วมากขึ้นด้วย มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อฟันผุลามไปเรื่อย ๆ จนถึงฟันแท้ อันเป็นสาเหตุของอาการปวดฟัน เหงือกอักเสบจนไม่อยากรับประทานอื่น ๆ ได้

  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน

นอกจากการทานขนมหวานและน้ำตาลจะทำให้ลูกน้อยฟันผุแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ง่าย จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าภายในปี 2568 คาดการณ์ว่าจะมีเด็กป่วยเป็นโรคอ้วนทั่วโลกสูงถึง 70 ล้านคน โดยภาวะโรคอ้วนในเด็กไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็กเล็ก ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมด้วย

  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

การทานขนมหวานและน้ำตาลมักมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ในเด็กเล็กก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสสูงมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ยังไม่พอแค่นั้นการติดขนมหวานและน้ำตาลตั้งแต่เด็ก ยังมีความเสี่ยงเมื่อลูกน้อยโตขึ้นแล้วจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีภาวะไขมันในเลือดสูง และอาการที่รุนแรงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ คือโรคไตวาย

แม่ป้อนข้าวลูกน้อย

คุณพ่อคุณแม่ควรมีแนวทางป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดขนมหวานและน้ำตาลได้อย่างไร?

  1. ให้ลูกน้อยดื่มน้ำผลไม้สดที่ไม่ใส่น้ำตาลแทนน้ำอัดลมและน้ำหวาน แน่นอนว่าน้ำผลไม้คั้นสดมีน้ำตาลเหมือนกัน แต่ยังนับว่าอยู่ในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำอัดลมและน้ำหวานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้รสไม่หวานจัด สามารถรับประทานเป็นอาหารว่างให้เด็กเล็กได้ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักรับประทานผลไม้ให้เป็นตั้งแต่เด็ก อีกทั้งการรับประทานผลไม้ยังมีประโยชน์ ช่วยรักษาฟันน้ำนมไม่ให้หลุดก่อนกำหนด ฟันแท้ที่ตามมาจะขึ้นได้รูปสวยงามอีกด้วย
  2. คุณพ่อคุณแม่ควรมีมาตรการคุมเข้มน้ำตาลในลูกน้อย โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมนับเป็นช่วงเวลาที่เด็กเล็กต่างมีอิสระในการเลือกกินอาหารมากขึ้น ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดควบคุมปริมาณการรับประทานขนมหวานและน้ำตาลของลูกน้อยให้ดี เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กเคยชินในการรับรส และไม่ติดหวานจนเกินไป
  3. หลีกเลี่ยงนมผงดัดแปลงที่ผสมน้ำตาล โดยเฉพาะนมผงอัดเม็ดที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนชื่นชอบมาให้ลูกน้อยทานเป็นขนมหวานทานเล่น ทานบ่อย ๆ ก็ไม่ดีเช่นกัน ควรหันไปให้ลูกน้อยดื่มนมรสจืดที่เป็นนมโคแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรับแร่ธาตุแคลเซียม เสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายดีกว่า

 

สุขภาพที่ดีของลูกน้อย อยู่ที่ความใส่ใจของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก ขนมหวาน น้ำผลไม้ โยเกิร์ต นม ซีเรียล สารพัดอาหารที่เด็กเล็กชื่นชอบ หากคุณพ่อคุณแม่อ่านฉลากโภชนาการอย่างละเอียด เชื่อว่าต้องมีตกใจกันไม่มากก็น้อย เพราะอาหารแต่ละชนิดที่กล่าวมาล้วนมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก อย่าปล่อยให้ลูกน้อยทานเพลินสบายปาก แต่เน้นหมั่นฝึกฝนให้ลูกน้อยทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ดีตั้งแต่เด็ก ลูกน้อยจะได้เจริญเติบโตแข็งแรงกันนะคะ

Banner ดูสินค้าแม่และเด็กได้ที่เว็บไซต์ Punnita.com