มหัศจรรย์การพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์
การพัฒนาการของทารกในครรภ์ตั้งแต่ 1 เดือน – 9 เดือน ในแต่ละวันนั้นลูกน้อยของเราจะเป็นอย่างไร
เพราะพัฒนาการของลูกคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ เราจึงต้องเรียนรู้การพัฒนาการของลูกน้อยไปพร้อมๆกัน
การตั้งครรภ์โดยปกติจะมีระยะเวลา 9เดือน หรือ ประมาณ 42สัปดาห์ นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายโดยเฉลี่ยคือ 40 สัปดาห์ ช่วงเวลานี้เป็นระยะที่คุณแม่ตั้งครรภ์และทารกใช้เวลาอยู่ด้วยกันและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ดังนั้น การเรียนรู้พัฒนาการ ทารก ใน ครรภ์ จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจและสามารถปรับตัว และรวมถึงการปฎิบัติตัวอย่างถูกวิธีของคุณแม่ เพื่อให้เข้ากันได้กับลูกน้อยในครรภ์
ช่วงเดือนแรก(4สัปดาห์)
เป็นช่วงเวลาที่ไข่ได้ผสมกับอสุจิกลายเป็นตัวอ่อนในช่วงประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว(Fertilized egg) จะเคลื่อนตัวช้าๆ ผ่านท่อนำไข่มายังโพรงมดลูก ขณะเคลื่อนตัวก็จะมีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะกระทั่งถึงโพรงมดลูกไข่จะมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ เจริญเติบโตต่อไป เมื่อครบ 1 สัปดาห์ไข่ที่ผ่านการผสมแล้วจะฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีการเตรียมการไว้อย่างดี ซึ่งมีลักษณะนุ่มและหนา จนเมื่อยึดเกาะติดมั่นคงดีแล้วจึงถือได้ว่าการปฏิสนธิเป็นไปอย่างสมบูรณ์
ช่วงเดือนที่ 2 (8สัปดาห์) ถ้าทำอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดก็สามารถเห็นทารกได้แล้ว
เป็นเดือนที่สำคัญมากของการตั้งครรภ์ ช่วงเดือนที่ 2 ของพัฒนาการทารกในครรภ์นี้ทารกเริ่มมองเห็นเป็นตัวแล้ว การพัฒนาการของทารกในครรภ์สังเกตได้อย่างชัดเจนจากหัวของทารกที่จะโตกว่า ส่วนอื่น รูปหน้า มือและเท้า เริ่มปรากฏให้เห็น ช่วงปลายเดือนถ้าอัลตราซาวด์จะเห็นการเคลื่อนไหวและจับการเต้นหัวใจได้ ทั้งมองเห็นส่วนที่จะกลายเป็นสายสะดือ
ซึ่งหน้าที่เสมือนเป็นปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนจากคุณแม่ และยังเป็นเสมือนสายใยที่คอยลำเรียงอาหารจากคุณแม่สู่ทารกในครรภ์อีกด้วย ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร
ช่วงเดือนที่ 3 (12สัปดาห์) ถ้าทำอัลตร้าซาวด์ทางหน้าท้องก็สามารถเห็นทารกได้แล้ว
โครงสร้างใบหน้าของทารกเริ่มสมบูรณ์ แต่เปลือกตายังปิดอยู่ การทำงานของระบบสมอง และกล้ามเนื้อเริ่มมีความสัมพันธ์กัน กล้ามเนื้อต่างๆ มีการเจริญเติบโต แขนขาเริ่มยืดออก และเคลื่อนไหวได้ ข้อต่างๆ เริ่มเชื่อมต่อกัน นิ้วมือนิ้วเท้าสมบูรณ์ และเริ่มงอได้ ปลายนิ้วมีเล็บ ทารกจะหัดดูดนิ้ว และเริ่มกลืนน้ำคร่ำได้ โดยตัวทารกนั้นจะลอยอยู่ในน้ำคร่ำภายมดลูก ซึ่งน้ำคร่ำนี้เองทำหน้าที่ปกป้องและห่อหุ้มทารกไม่ให้ได้รับความกระทบ กระเทือน ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร ภายในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นี้จะเป็นช่วงของการสร้างอวัยวะต่างๆ คุณแม่ต้องระมัดระวังการใช้ยา หรือการรับสารต่างๆที่จะเข้าไปในร่างกายและดูแลตัวเองเป็นพิเศษเนื่องจากมีอัตราเสี่ยงในการแท้งค่อนข้างสูง ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ช่วงเดือนที่ 4 (16สัปดาห์) เริ่มกระบวนการพัฒนาของระบบต่างๆ
ในช่วงของเดือนที่4 แขนและข้อต่อต่างๆ พัฒนาอย่างสมบูรณ์ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงขึ้น ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างกระฉับกระเฉง แต่คุณแม่ท้องแรกอาจจะยังไม่รู้สึกว่าลูกเคลื่อนไหว ส่วนคุณแม่ท้องหลังอาจจะ รู้สึกได้บ้าง ทารกเริ่มมีขนอ่อนปกคลุมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทารก แพทย์สามารถตรวจเสียงหัวใจเต้นจากเครื่องฟังทางหน้าท้องได้แล้ว ไตเริ่มที่จะทำงานได้เหมือนผู้ใหญ่ นอกจากนี้ทารกยังมีจำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อมากกว่าเดือนที่แล้วถึง 3 เท่า สามารถเตะ งอนิ้วมือนิ้วเท้า กลอกตาได้ อวัยวะเพศพัฒนามากขึ้นจน สามารถบอกได้ว่าเป็นเพศใดจากอัลตร้าซาวด์ ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 16 – 18 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 200 กรัม
ช่วงเดือนที่ 5 (20สัปดาห์) ทารกเริ่มรู้สึกกับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้
ทารกจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ระยะนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกแล้วว่าทารกดิ้น หรือมีการเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ โดยฟันจะถูกสร้างขึ้นมาแต่จะอยู่ใต้ขากรรไกร เริ่มมีผมบนศีรษะ กล้ามเนื้อต่างๆ มีความแข็งแรงมากขึ้น ทารกเคลื่อนไหวมากขึ้น และร่างกายจะผลิตสารสีขาวข้นที่เรียกว่า เวอร์นิกซ์ หรือ ไข ขึ้นมาเคลือบเพื่อปกป้องผิวเส้นผม คิ้วและขนตาเริ่มงอกเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัส คือ รับรู้รส ได้กลิ่น และได้ยิน ตายังปิดอยู่แต่รับรู้แสงสว่างจ้าได้ ดังนั้นเวลาคุณแม่พูดลูกสามารถได้ยิน หรือเวลาที่คุณแม่ลูบท้องลูกน้อยก็จะรับรู้ได้เช่นกัน ช่วงปลายเดือนนั้นทารกยังเริ่มถ่ายปัสสาวะลงสู่น้ำคร่ำได้อีกด้วย ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 400 กรัม
ช่วงเดือนที่ 6 (24สัปดาห์) การตอบสนองของทารกชัดเจน
ระยะนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าทารกดิ้น หรือมีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ร่างกายของทารกเริ่มเติบโตช้ากว่าเดิมเพื่อให้อวัยวะภายใน เช่น ปอด ระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันได้พัฒนาอย่างเต็มที่ ทารกสามารถได้ยินเสียงหัวใจคุณแม่เต้นเต้น เสียงพูด เสียงดนตรี และสามารถตอบสนองการกระตุ้นของแม่ ดังนั้นช่วงนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะสื่อสารต่างๆ กับลูกน้อยได้มากขึ้น ทารกในช่วงนี้อาจจะดูผอมบางเนื่องจากมีไขมันสะสมอยู่ใต้ผิวหนังน้อย ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 600 กรัม
ช่วงเดือนที่ 7 (28สัปดาห์) พัฒนาการพร้อมแล้ว
เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ท้องโตมากขึ้น มีการสร้างไขมากขึ้นเพื่อมาปกคลุมผิวหนัง ลำตัว เพื่อความอบอุ่น และป้องกันผิวหนังจากน้ำ ปอดของทารกพัฒนาได้ดีในระดับหนึ่ง เปลือกตาเริ่มเปิด และนัยน์ตาพัฒนาไปมากจนมองเห็นแสงที่ผ่านมาทางหน้าทองแม่ได้ เสียงดังๆทำให้ทารกเคลื่อนไหว และการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไปตามเสียงและแสงไฟ ต่อมรับรสของทารกพัฒนาไปมาก ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร น้ำนักประมาณ 1000 – 1200 กรัม ถ้าทารกเกิดคลอดออกมาช่วงเวลานี้จะมีโอกาสรอดค่อนข้างสูง เพราะอวัยวะสำคัญทั้งหลายสามารถทำงานในระดับดีบ้างแล้ว
ช่วงเดือนที่ 8 (32 สัปดาห์) ทารกจัดท่าเตรียมพร้อมออกมาลืมตาดูโลก
ทารกจะมีขนาด และสัดส่วนใกล้เคียงกับเด็กแรกเกิด มีความแข็งแรงมากขึ้น ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มกลับหัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน การดิ้นของทารกจะสามารถสังเกตเห็นได้จากหน้าทองของแม่ ช่วงนี้ก่อนคลอดหนึ่งเดือนคุณแม่อาจมีอาการมดลูกบีบรัดตัวซึ่งเป็นอาการที่ เรียกว่า เจ็บครรภ์หลอก หรือ เจ็บครรภ์เตือน การหดตัวรัดตัวนี้ก็เพื่อดันตัวทารก มาประชิดปากมดลุกเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 40 – 45 เซนติเมตร น้ำนักประมาณ 2000 – 2500 กรัม
ช่วงเดือนที่ 9 (36สัปดาห์) เตรียมตัวเป็นแม่คน
ในเดือนนี้ทารกจะอยู่ในท่าที่พร้อมจะคลอด เล็บมีการงอกยาวมากขึ้นครอบคลุมปลายนิ้ว ผมบนศีรษะมีความยาวประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ศีรษะของทารกจะเคลื่อนเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน ดังนั้นคุณแม่อาจคลอดตอนไหนก็ได้ในช่วงนี้ ทารกส่วนใหญ่จะคลอด 1 – 2 อาทิตย์ ก่อนวันที่กำหนดไว้ ( 40 สัปดาห์ ) หรืออาจช้าไป 1 – 2 สัปดาห์หลังกำหนด ลำตัวทารกช่วงนี้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำนักประมาณ 2800 – 3000 กรัม
ตลอด 9 เดือน หรือ 32สัปดาห์ที่อยู่ภายในครรภ์ของคุณแม่ การพัฒนาต่างๆของลูกน้อยค่อยๆเริ่มพัฒนาขึ้นทีละก้าว พร้อมๆกับคุณแม่ที่พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นคุณแม่มือใหม่ การเรียนรู้การพัฒนาการของลูกจะช่วยให้คุณแม่ปรับตัวและดูแลร่างกายได้อย่างถูกวิธี