เพราะเด็กทารกเป็นวัยที่ยังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าลูกร้องเพราะอะไรและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ ทำให้ลูกร้องไม่หยุดจนตัวคุณพ่อคุณแม่เองเกิดความกังวล ลนลาน ทำอะไรไม่ถูก แต่จริง ๆ แล้ว การส่งเสียงอ้อแอ้หรือการร้องไห้ของทารกนั้นเป็นวิธีการสื่อสารที่คล้ายกับการพูดของผู้ใหญ่เพื่อบอกความต้องการและความรู้สึก เช่น หิว ไม่สบายตัว ง่วงนอน ฯลฯ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงร้องแบบไหนหมายถึงอะไร Punnita มีคำตอบค่ะ
สำหรับคำตอบในเรื่องนี้ คุณพริสซิลล่า ดันสแตน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารภาษาเด็กทารกได้ทำการฟังเสียงเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 เดือน ร่วม 1,000 คน จากทั่วโลก และพบว่าทารกทุกชาติ ทุกภาษาจะสื่อสารออกมาด้วยภาษาสากลผ่านเสียงร้อง ซึ่งมีทั้งหมดอยู่ 5 เสียงด้วยกัน คือ
-
เนะ = หนูหิว
เมื่อลูกน้อยเปล่งเสียงลักษณะนี้ พวกเขากำลังสื่อว่า “หนูหิว” ค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่ามีลมออกมาทางจมูกของลูกมากกว่าปาก เหมือนเสียงขึ้นจมูกร่วมกับเสียงที่ดูดเพดานปาก การร้องในลักษณะนี้อาจเริ่มจากการร้องเบา ๆ และเพิ่มเสียงดังขึ้นร่วมกับการส่ายหัวไปมาเพื่อหาหัวนมและใช้ลิ้นดุนที่ปากไว้
วิธีตอบสนองเสียง “เนะ”
- หากลูกน้อยยอมเข้าเต้า ให้คุณแม่อุ้มลูกไว้แนบอก และกอดลูกไว้ในขณะให้นม
- อุ้มลูกไว้แนบอก ใช้หมอนนิ่ม ๆ รองตัวลูกไว้ในขณะให้นม ซึ่งจะให้ความรู้สึกสบายทั้งแม่และลูก
- คุณแม่นั่ง อุ้มลูกเข้าเต้าด้านข้างโดยใช้หมอนรองตัวลูกเอาไว้เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกน้อย
- คุณแม่นอนตะแคง เอาหมอนรองใต้ตัวลูกเพื่อดูดนมแม่ได้ถนัด
- ขณะให้นม คุณแม่ควรสบสายตามองลูกน้อยเพื่อเป็นการสร้างสายใยรัก
-
อาว = หนูง่วง
การร้องแบบนี้ดูไม่ยากค่ะ เมื่อลูกน้อยส่งเสียง “อาว” ร่วมกับการอ้าปากเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่และหุบปากลงคล้ายการงับอากาศเข้าปากเป็นสัญญาณที่บอกว่า “หนูง่วงแล้วนะ” ซึ่งก็คล้ายกับเวลาผู้ใหญ่หาวเพื่อเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อทำให้ร่างกายตื่นตัวนั่นเองค่ะ
วิธีตอบสนองเสียง “อาว / หาว”
- นั่งอุ้มลูกแนบกับอก โยกตัวช้า ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- ยืนอุ้มลูกแนบกับอก โยกตัวช้า ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- อุ้มกล่อม เดินไปเดินมาสักพัก ลูกน้อยจะหลับได้เร็วขึ้น
- ฮัมเพลงหรือร้องเพลงกล่อมเบา ๆ ให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
-
เฮะ = หนูไม่สบายตัว
การเปล่งเสียงว่า “เฮะ” มักเป็นเสียงที่ออกมาจากปอด ซึ่งจะคล้ายเสียง “เฮ้อ” เวลาผู้ใหญ่ถอนหายใจ หากลูกร้องในลักษณะนี้ร่วมกับการอ้าปากกว้างจะเป็นการบ่งบอกว่าพวกเขากำลังไม่สบายตัว อึดอัด ร้อน เหนียวตัว หรือเปียกชื้นค่ะ
วิธีตอบสนองเสียง “เฮะ”
- เปลี่ยนผ้าอ้อม
- เช็ดตัวหรืออาบน้ำเพื่อระบายความร้อน
- ถอดเสื้อผ้าที่หนา ๆ ออก แล้วเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าบาง ๆ
- ทาแป้งเพื่อป้องกันความเปียกชื้น ช่วยให้ลูกรู้สึกแห้งและสบายตัว
เมื่อลูกน้อยอ้าปากกว้างและปล่อยลมออกมาคล้ายเสียง “เอะ” หรือเสียงสระแอในภาษาไทยเหมือนกับเสียงผู้ใหญ่เรอเมื่อมีลมหรือแก๊สอยู่ในท้อง และร้อง ๆ หยุด ๆ คล้าย ๆ งอแงนี้จะเป็นการบอกถึงอาการ “ไม่สบายท้อง” เช่น อึดอัด ปวดท้อง เนื่องจากมีลมในท้องมาก และไม่จำเป็นว่าจะต้องร้องแบบนี้หลังกินนมเท่านั้น แต่สามารถร้องได้ตลอดวัน
วิธีตอบสนองเสียง “เอะ”
- คุณแม่จับลูกนั่งตัวตรง ลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ
- คุณแม่นั่งหรือยืน อุ้มลูกอยู่ในระดับบ่า ตบหลังเบา ๆ
- จับให้ลูกนอนหงาย แล้วยกขาของลูกสลับไปมา
- จับลูกนั่งตัวตรง และประคองบริเวณหลังและคอ จากนั้นโยกตัวลูกเบา ๆ เป็นวงกลม
- หากลูกเรอยาก คุณแม่อุ้มลูกโดยใช้ท้องพาดบริเวณกระดูกหัวไหล่ของแม่ และนวดบริเวณท้องลูกเบา ๆ แต่ไม่ควรทำหลังให้นม เพราะจะทำให้ลูกอาเจียนได้
-
แอร๊ = หนูไม่สบายท้อง
เสียงร้องในลักษณะนี้เกิดจากแก๊สที่เคลื่อนตัวจากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ เมื่อลูกน้อยส่งเสียงร้องคล้ายคำว่า “แอร๊” พร้อมกับการพยายามยกเข่าขึ้นสู่ช่วงท้องแสดงว่าลูกน้อยอาจมีแก๊สหรือลมในท้อง ปวดท้อง หรือรู้สึกอยากถ่าย
วิธีตอบสนองเสียง “แอร๊”
สามารถใช้วิธีเดียวกับการวิธีตอบสนองเสียง “เอะ” ในข้อ 4 ได้เลยค่ะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การถอดรหัสเสียงลูกน้อยนี้อาจต้องอาศัยการสังเกตค่อนข้างมากในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อผ่านไปสักพัก Punnita เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะสามารถปรับตัว จับน้ำเสียง และทำความเข้าใจความต้องการของลูกน้อยและตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ดีขึ้นแน่ ๆ ค่ะ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมีความสุขกับช่วงเวลาอันแสนพิเศษนี้นะคะ
คลิปวิดีโอประกอบ
ดูสินค้าแม่และเด็กเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.punnita.com