อาการคนท้อง คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดจากการปรับตัวของฮอร์โมนและร่างกาย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์จนถึงระยะเวลาที่คลอด โดยมีอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ในบทความนี้ Punnita ได้รวบรวม 20 อาการคนท้องที่พบได้บ่อยในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ท่านใดที่กำลังสงสัยว่าตนมีอาการท้องหรือไม่ มาร่วมพิจารณาอาการต่าง ๆ ไปพร้อมกับเรากันเลย
-
ขาดประจำเดือน
การขาดประจำเดือนเป็นอาการแรกที่ผู้หญิงมักสังเกตเห็นเมื่อตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันการตกไข่และประจำเดือน มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนที่คาดว่าจะมีประจำเดือน ในขณะเดียวกัน อาการขาดประจำเดือนอาจมีสาเหตุจากความเครียดที่สะสม ฮอร์โมนไม่สมดุล และการขาดอาหาร คุณแม่ที่มีอาการขาดประจำเดือนและสงสัยว่ากำลังท้องหรือไม่ ควรเข้ารับการตรวจครรภ์หาค่าฮอร์โมน hCG เพื่อยืนยันจะได้รับผลที่แม่นยำที่สุด
-
มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้ท้อง
อาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาจเริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 และอาจมีอาการคลื่นไส้ในตอนเช้าหรือตลอดทั้งวัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และในคุณแม่บางรายอาจมีการแพ้อาหารหรือกลิ่นบางอย่างร่วมด้วย
-
คัดเต้านม หัวนม เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกว่าหัวนมและเต้านมมีการขยายตัวและมีอาการคัดตึงขึ้น มีการเปลี่ยนสีที่หัวนม และเส้นเลือดที่เห็นชัดเจนขึ้น โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อร่างกายของคุณแม่ปรับตัวตามฮอร์โมนที่สูงขึ้นได้แล้ว อาการจะค่อย ๆ ลดลงไปภายใน 3 เดือน
-
อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
การอ่อนเพลียเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ระยะ 1 ถึง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น คุณแม่ที่รู้ตัวจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ
-
ปัสสาวะถี่ขึ้นกว่าปกติ
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนฮอร์โมน hCG จะพุ่งสูงขึ้นและมดลูกขยายตัว จะทำให้มีความกดดันต่อกระเพาะปัสสาวะ ระบบไหลเวียนของเลือดและของเหลวในร่างกายเพิ่มระดับทำงานมากกว่าเดิม จึงทำให้รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
-
เลือดออกกะปริดกะปรอยจากช่องคลอด
บางครั้งอาจมีเลือดออกเล็กน้อยในช่วงที่ไข่ฝังตัวในมดลูก อาการนี้เรียกว่า “Implantation Bleeding” ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 6 ถึง 12 วันหลังการปฏิสนธิ โดยอาการนี้ไม่เกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคน ทั้งนี้คุณแม่ท่านใดที่มีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยร่วมกับอาการปวดท้องเกร็ง อาจมีสาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก ก้อนเลือดจากรกเด็ก หรือการแท้งลูก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
-
ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความดันโลหิตที่ลดลงอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดศีรษะหรือรู้สึกวิงเวียนได้ ซึ่งมักจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหลังของการตั้งครรภ์
-
ท้องอืด
การเปลี่ยนแปลงในระบบฮอร์โมนสามารถทำให้เกิดการย่อยอาหารช้าลง ทำให้มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ ส่งผลให้คุณแม่หลายท่านรู้สึกท้องอืด และไม่สบายตัว
-
ท้องผูก
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน อาจทำให้กล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหารผ่อนคลาย ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องผูก มีสาเหตุเดียวกับอาการท้องอืด คุณแม่ที่อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น ทานอาหารที่มีกากใยสูง และออกกำลังกายเบา ๆ
-
ปวดหน่วงที่ท้องน้อย เป็นตะคริวที่ท้องน้อย
คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกปวดหน่วงหรือมีตะคริวที่ท้องน้อย ปวดจี๊ด ๆ ประมาณ 2 ถึง 3 วัน จากนั้นอาการจึงหายไป โดยเฉพาะช่วงแรกของการตั้งครรภ์ พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะ 1 ถึง 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ เนื่องจากการยืดขยายของมดลูก
-
พฤติกรรมความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้คุณแม่เกิดความอยากอาหารในบางประเภท หรืออาจมีการแพ้อาหารบางอย่าง เพราะประสาทสัมผัสความไวต่อกลิ่นและการรับรสมากกว่าปกติ
-
ไวต่อกลิ่น
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มักจะมีความไวต่อกลิ่นมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้หรือไม่สบายได้จากกลิ่นที่เคยไม่รบกวนมาก่อน ไม่ได้หมายถึงแค่กลิ่นของอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลิ่นต่าง ๆ รอบตัวด้วย
-
ปวดหลัง
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการเพิ่มน้ำหนักในร่างกาย สามารถทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหลังได้ตั้งแต่เดือนแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ ส่งผลต่อเส้นเอ็น ไขข้อ และกระดูกเชิงกราน อาจรบกวนการทำกิจกรรมประจำวันได้เช่นกัน
-
ตกขาวมากผิดปกติ
การมีตกขาวมากขึ้นและมีลักษณะใสไม่มีกลิ่น หรือบางรายอาจมีลักษณะเป็นมูกใส สีขาวขุ่น คล้ายแป้งเปียก สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย เพื่อเตรียมให้คุณแม่พร้อมรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์
-
อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
เป็นปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดมากกว่าปกติ เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่ออารมณ์ความโกรธเท่านั้น แต่ยังมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วยในบางราย
-
หายใจถี่
คุณแม่จะมีอาการหายใจถี่ขึ้น โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในระยะแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและการเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือดในร่างกาย รวมถึงคุณแม่จำเป็นต้องหายใจลึกขึ้น ถี่ขึ้น เพื่อรับปริมาณออกซิเจนเพื่อทารกในครรภ์ด้วย
-
แสบร้อนกลางอก
อาการแสบร้อนกลางอกในคุณแม่ตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวบ่อยกว่าปกติ ทำให้เกิดกรดไหลย้อนขึ้นมา มีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และรู้สึกขมคอได้
-
สิวขึ้นมากผิดปกติ
ไม่แปลกเมื่อฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง โอกาสที่คุณแม่จะมีสิวขึ้นบริเวณหน้าและหลังได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน มักทำให้เกิดการผลิตน้ำมันในผิวมากขึ้น ทำให้เกิดสิวตามมา
-
ผิวหนังเปลี่ยนไป
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในสีผิว เช่น จุดด่างดำ หรือการเปลี่ยนแปลงในลักษณะผิวหนังโดยรวม
-
อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งมักจะรู้สึกได้ในช่วงเช้า โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะแรกบางท่านอาจรู้สึกเหมือนมีไข้ต่ำ ๆ ในตอนเย็น เนื่องจากเป็นระยะปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ให้พร้อมสำหรับการเติบโตของทารก ข้อแนะนำ คือให้คุณแม่พยายามดื่มน้ำมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ
ทั้งหมดนี้ คืออาการคนท้องที่สังเกตได้ไม่ยาก และพบได้บ่อยในคุณแม่ที่มีระยะตั้งครรภ์ในช่วงแรกเริ่มจนถึงช่วงระยะเวลาที่คลอดลูกน้อย คุณแม่ทุกท่านควรทราบถึงลักษณะอาการเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ปรับตัวและดูแลสุขภาพร่างกายให้พร้อมต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์นะคะ ลูกน้อยจะได้คลอดออกมามีสุขภาพดี ลูกน้อยแฮปปี้ คุณแม่ก็แฮปปี้
Punnita ศูนย์รวมสินค้าแม่และเด็กครบวงจร อยากให้คุณแม่รวมถึงหนูน้อยปลอดภัยและมีความสุขกับทุก ๆ โมเมนต์ของการเจริญเติบโตร่วมกัน และเราพร้อมให้บริการจัดจำหน่ายและให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมของใช้สำหรับคุณแม่คุณพ่อมือใหม่อย่างจริงใจ ท่านใดสนใจสามารถปรึกษาเราได้นะคะ